Friday, March 24, 2023

สศก. แถลง จีดีพีเกษตร ไตรมาส 1 ระบุ น้ำดี อากาศอำนวย บวกเศรษฐกิจฟื้นตัว ดันจีดีพีโต 5.5%

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2566 (มกราคม – มีนาคม 2566) ว่า ขยายตัวร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 เนื่องจากปริมาณฝนตกสะสมตลอดปีที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำธรรมชาติเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดที่อยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง 

จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกและเพิ่มการผลิต ประกอบกับการสนับสนุนการนำแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้ในการพัฒนา อาทิ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และชนิดสินค้า การบริหารจัดการน้ำและให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติอย่างทันท่วงที การเฝ้าระวังโรคพืชและสัตว์ การยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค 
และการขยายช่องทางการตลาดที่หลากหลาย ทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการการผลิตได้อย่างต่อเนื่องและจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากกิจกรรมการผลิต การค้า และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การผลิตทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น โดยสาขาพืช ยังคงเป็น

สาขาหลักที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาสนี้ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะข้าวนาปรังและอ้อยโรงงาน ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญ ในไตรมาส 1 ขณะที่สาขาปศุสัตว์ สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเช่นกัน ส่วนสาขาประมง หดตัวเล็กน้อย เนื่องจากต้นทุนด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้ผู้ประกอบการประมงออกเรือจับสัตว์น้ำลดลง 

สำหรับรายละเอียดในแต่ละสาขา สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 พืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด และ เงาะ ภาพรวมเนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำธรรมชาติเพิ่มขึ้นเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก ประกอบกับราคาที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรมีการบำรุงดูแล อีกทั้งการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราลดลง   ส่งผลให้ผลผลิตยางเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มไม้ผล นอกจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการติดดอกออกผลแล้ว ทุเรียนที่ปลูกแทนในพื้นที่ยางพาราและไม้ผลอื่น เมื่อปี 2561 และลำไยที่ปลูกแทนในพื้นที่ลิ้นจี่ มะนาว และไม้ผลอื่น เมื่อปี 2563 เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ อย่างไรก็ตาม พืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนลดการบำรุงดูแลรักษาจากต้นทุนด้านราคาปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตรที่สูงขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน ขณะที่มันสำปะหลัง ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน 2565 บางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบนมีฝนตกหนักและประสบอุทกภัย ทำให้น้ำท่วมขัง  พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังบางส่วนได้รับความเสียหาย ทำให้ผลผลิตในไตรมาสนี้ลดลง 

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 0.8 สินค้าปศุสัตว์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ มีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และประเทศผู้ผลิตหลายประเทศประสบปัญหาโรคไข้หวัดนก สุกร ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการป้องกันและควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพภายในฟาร์มสุกรมากขึ้น ทำให้มีจำนวนแม่พันธุ์สุกรเพิ่มขึ้น รวมทั้งความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ไข่ไก่ ผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการปริมาณการผลิตที่เหมาะสมกับความต้องการบริโภค                 และ น้ำนมดิบ ผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเกษตรกรมีการดูแลโคนมที่ดีขึ้น ประกอบกับการควบคุมโรคลัมปีสกินที่ดี ส่งผลให้มีจำนวนแม่โคให้นมเพิ่มขึ้น 

สาขาประมง หดตัวร้อยละ 0.5 โดยสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือมีปริมาณลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตหลักของการทำประมงทะเลปรับตัวสูงขึ้น ปลานิลและปลาดุก ผลผลิตลดลง เนื่องจากภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าอาหารสัตว์ ทำให้เกษตรกรชะลอการเลี้ยง และลดปริมาณการปล่อยลูกปลา ส่วน กุ้งขาวแวนนาไม เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเกษตรกรมีการขยายเนื้อที่เพาะเลี้ยง และปรับเพิ่มจำนวนลูกพันธุ์และลงลูกกุ้งมากกว่าช่วงที่ผ่านมา  

สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 4.0 ของปี 2565 เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืช ประกอบกับในปีที่ผ่านมาราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกและดูแลเอาใจใส่การผลิตมากขึ้น ส่งผลให้มีกิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  

สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 0.7 โดย ไม้ยูคาลิปตัส เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษ โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่นและจีน ครั่ง เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย รวมถึงมีการส่งเสริมการเลี้ยงภายในประเทศเพิ่มขึ้น รังนก เพิ่มขึ้นตามความต้องการเพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปรังนก และยังมีการส่งออกไปยังจีนอย่างต่อเนื่อง ถ่านไม้ เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคบริการ ทั้งธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และมีการส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น  

ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0 เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยทุกสาขาการผลิต มีแนวโน้มขยายตัว จากปัจจัยสนับสนุนด้านสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และทำประมง การดำเนินนโยบายของภาครัฐและความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิต ยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับ ส่งเสริมการรวมกลุ่มในการผลิตและแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เพิ่มช่องทางให้เกษตรกรเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ และบริหารจัดการสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มที่ดี ช่วยสนับสนุนให้ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตร การระบาดของโรคพืชและสัตว์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาปัจจัยการผลิตทั้งราคาน้ำมัน ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช และอาหารสัตว์ อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ความขัดแย้งทางระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ สงครามทางการค้า และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัว 

             






No comments:

Post a Comment