เตรียมจัดงานใหญ่ เทศกาลส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) จังหวัดปทุมธานี รวบรวมไว้ทั้งอาหารนานาชนิดที่ขึ้นชื่อ แหล่งท่องเที่ยว และวัฒนธรรมประเพณีของจังหวัดปทุมธานี ภายในงานเดียว ทั้งอาหารดั้งเดิมของชนชาติไทย มอญ อิสลาม จีน อาหารพื้นบ้าน อาหาร Street Food ฯลฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวภายในประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 ระบาดผ่อนคลายลง และเตรียมพร้อมเปิดเมืองให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ระหว่างวันที่ ๒๗ – ๓๑ กรกฎาคม 2565 ณ ลานหน้าศาลากลางจังหวัดปทุมธานี (หลังเดิม)
นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า “นโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) เป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สามารถสร้างประสบการณ์ทางการท่องเที่ยว และ
มีความสอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการของตลาดนักท่องเที่ยวในอนาคต โดยเป็นสินค้าและบริการที่มีโอกาสและศักยภาพสูง อันนำมาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศผ่านการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการที่มีรากฐานทางวัฒนธรรมและวิถีอันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารร่วมกับการพัฒนากรรมวิธีการผลิตของภาคเกษตร โดยมุ่งเน้นประสบการณ์สัมผัสบรรยากาศและวัฒนธรรมท้องถิ่น และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอาหารเพื่อสุขภาพ”
จังหวัดปทุมธานี เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ปริมณฑลติดกับกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีศักยภาพความหลากหลายของทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ มีการผสมผสานกันทั้งการท่องเที่ยว
เชิงประวัติศาสตร์ เชิงวัฒนธรรม เชิงเกษตรและวิถีชีวิตพื้นถิ่นที่เรียบง่าย ตลอดจนมีประเพณี วัฒนธรรม และอาหารการกินที่ผสมผสาน
เป็นเอกลักษณ์ของหลากหลายชาติพันธุ์และจากคำขวัญของจังหวัดปทุมธานีที่กล่าวว่า “ถิ่นบัวหลวง เมืองรวงข้าว เชื้อชาวมอญ นครธรรมะ พระตำหนักรวมใจ สดใสเจ้าพระยา ก้าวหน้าอุตสาหกรรม” ซึ่งข้าวและบัว ยังมีความเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดและมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบสานต่อคนรุ่นหลัง
“จังหวัดปทุมธานี โดย สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปทุมธานี กำหนดจัดงานเทศกาลส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) จังหวัดปทุมธานี ในระหว่างวันที่ ๒๗ – ๓๑ กรกฎาคม 2565 ณ ลานหน้าศาลากลางจังหวัดปทุมธานี (หลังเดิม) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวภายในประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 ระบาดผ่อนคลายลง และเตรียมพร้อมเปิดเมืองให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น และสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ (Local Economy) การสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจรายสาขารายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งการจัดงานครั้งที่ผ่านมาเมื่อปี พ.ศ. 2563 ผู้ประกอบการร้านอาหาร/ชุมชน มีรายได้หมุนเวียนจากการจัดงาน มูลค่า 4,525,925 บาท และมียอดผู้เข้าชมงานและจำนวนนักท่องเที่ยวตลอดระยะเวลาการจัดงาน จำนวน 42,755 คน
“ภายในงานเทศกาลส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) จังหวัดปทุมธานี จะรวบรวมไว้ทั้งอาหารนานาชนิดที่ขึ้นชื่อ แหล่งท่องเที่ยว และวัฒนธรรมประเพณีของจังหวัดปทุมธานี ภายในงานเดียว ทั้งอาหารดั้งเดิมของชนชาติไทย มอญ อิสลาม จีน อาหารพื้นบ้าน อาหาร Street Food อาทิ ข้าวแช่มอญเมืองปทุมธานี กุ้งแม่น้ำ ก๋วยเตี๋ยวเรือรสเด็ด ข้าวเกรียบมอญโบราณ หมูทุบเมืองปทุม ปลาดุกแดดเดียว ขนมเบื้องมอญโบราณ เป็นต้น” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้จากข้อมูลการท่องเที่ยวจังหวัดปทุมธานี ปี พ.ศ. 2564 (เดือน มกราคม – ธันวาคม 2564) มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดปทุมธานี จำนวน 426,693 คน และมีรายได้จากการท่องเที่ยว เป็นเงิน 504 ล้านบาท สำหรับปี พ.ศ. 2565 (เดือน มกราคม – เมษายน 2565) มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดปทุมธานี จำนวน 483,759 คน และมีรายได้จากการท่องเที่ยว เป็นเงิน 629 ล้านบาท ซึ่งพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยว ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้นจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาทั้งปี คาดการณ์ว่าจังหวัดปทุมธานีจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคนได้ภายใน
สิ้นปี 2565 นี้ เทียบเท่า ปี พ.ศ.2562 ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และจะสามารถสร้างรายได้ให้จังหวัดปทุมธานีอย่างมาก
* * * * * * * * *