Showing posts with label #วช. Show all posts
Showing posts with label #วช. Show all posts

Tuesday, May 9, 2023

วช. ชูนักวิจัย มก. ผู้คิดค้นทรัพยากรชีวภาพสัตว์และจีโนมิกส์ของสัตว์ รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ “สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา” ปี 66

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 
จัดกิจกรรมแถลงข่าว NRCT TALK นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 ครั้งที่ 5 เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้วิชาการและประเทศชาติ ซึ่งในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก “รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ” นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2566 (สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา) 
วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมแถลงข่าว NRCT TALK นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 ครั้งที่ 5 ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย ชั้น 1 อาคาร 
วช. 1  

นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ 

สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดยรางวัลแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ (ระดับปริญญาเอก) และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งกิจกรรมเปิดบ้านในวันนี้ได้รับเกียรติจากนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติท่านที่ 5 คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ แห่งหน่วยวิจัยด้านจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา)   

ที่มีความเชี่ยวชาญงานวิจัยเพื่อค้นหาการเปรียบเทียบจีโนมและระบบการกำหนดเพศของสัตว์มีกระดูกสันหลังหลายชนิด ทำให้เข้าใจระบบและกลไกการกำหนดเพศกลไกวิวัฒนาการ และสามารถนำไปวางแผนการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ อีกทั้งเชี่ยวชาญงานวิจัยด้านพันธุศาสตร์ของสัตว์ป่าและปศุสัตว์ ด้วยการประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรม และประเมินโครงสร้างประชากรของสัตว์ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในธรรมชาติ และในสถานีแหล่งเพาะ พัฒนาฐานข้อมูลความหลากหลายทางพันธุกรรมและลายพิมพ์ดีเอ็นเอของสัตว์ป่ากลุ่มต่าง ๆ โดยมีเครื่องมือประเมินความหลากหลายพันธุกรรมที่เป็นมาตรฐาน 

รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ แห่ง หน่วยวิจัยด้านจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ กล่าวว่า มีความสนใจศึกษาเรื่องจีโนมิกส์ตั้งแต่เด็ก เนื่องจากเห็นเรื่องพันธุกรรมเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่น เป็นตัวควบคุมและกำหนดสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว และการที่ศึกษาภาพรวมพันธุกรรมทำให้มองเห็นว่าพันธุ์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ได้ จนส่งผลต่อเนื่องเกิดการกินดีอยู่ดีของของชุมชน 

“หนึ่งในความภาคภูมิใจที่ผมทำร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ วช. ผู้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในเบื้องต้น คือการขยายพันธุ์กวางผา โดยเริ่มต้นศึกษาพันธุกรรมกวางผาในแหล่งเพาะพันธุ์ วางแผนผสมพันธุ์ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าพันธุ์พืชได้ปล่อยสู่ธรรมชาติ ทั้งนี้กำลังติดตามผลการอยู่รอดในธรรมชาติอย่างไร ซึ่ง 200 ตัวที่มีอยู่ในธรรมชาติจะเข้าไปผสมพันธุกันแบบธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน 


ตอนนี้ได้ทำการศึกษาวิจัยร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการเก็บอุจจาระของกวางผาในธรรมชาติมาศึกษา และนำมาประเมินค่าความเหมือนหรือความต่างของความต้องการในแหล่งเพาะพันธุ์ เพื่อปล่อยกวางผา ไปสู่แหล่งธรรมชาติที่เหมาะสม จำนวน 11 แห่งทั่วประเทศ ส่วนเรื่องการเพาะเลี้ยงหรือการติดตามทางอุทยานเขาก็ทำงานได้ดีมากอยู่แล้ว และอีก 1 งานวิจัยที่กำลังศึกษาคือเรื่องของปลาดุก จากปัญหาในอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาดุก ยิ่งเลี้ยงมากยิ่งต้องขยายพื้นที่เยอะในการเลี้ยงมาก แต่ผลผลิตกลับลดลง โดยพบว่าเกิดจากปัญหาของพันธุ์กรรมและระบบเลี้ยง งานวิจัยจึงเข้าไปแก้ปัญหาที่ต้นตอของพันธุกรรมของปลาดุกที่เอามาใช้เป็นประชากรตั้งต้น เพื่อที่จะผสมพันธุ์และทำให้รักษาคุณภาพของพันธุ์ได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาอาหารเกี่ยวกับไก่พื้นเมือง เพื่อมาเป็นโปรตีนทางเลือกให้กับชุมชน ทั้งชุมชนเปราะบาง ชุมชนที่อยู่ในที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ให้เขาสามารถเดินด้วยตัวเองจากการเลี้ยงไก่ที่เป็นแหล่งอาหารโปรตีน จึงอยากสนับสนุนให้ทุกบ้านเลี้ยงไก่และจะพยายามส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ของไก่พื้นเมืองต่อไป”

การจัดงาน NRCT Talk จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้เป็นนำเสนอในประเด็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชนและยังเป็นการเชิดชูนักวิจัยหลากหลายสาขา ที่มีคุณค่า สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักวิจัยยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางวิชาการต่อสังคมและเศรษฐกิจส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงโลกแห่งอนาคต สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

Monday, March 20, 2023

วช. หนุน “อ่าวปัตตานี” ยกระดับเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ตอบโจทย์เศรษฐกิจ BCG รองรับนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่อ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี นำโดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ  สังคม และสิ่งแวดล้อม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

 คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม และสื่อมวลชน เยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการ “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตฐานรากชุมชนชายฝั่ง โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย : กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี” 
ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย จาก วช. โดยมี นายมนูญ ศิริธรรม ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม  แห่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการวิจัย และคณะนักวิจัยให้การต้อนรับฯ ณ อ่าวปัตตานี ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า วช.ในฐานะหน่วยงานบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม มุ่งสนับสนุนและขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ประเด็นสำคัญและเร่งด่วนของประเทศ ทั้งในมิติวิชาการ นโยบาย ชุมชนสังคม และพาณิชย์ ซึ่งในครั้งนี้ วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับ แผนงานวิจัย “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตฐานรากชุมชนชายฝั่ง โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย : กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี” เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและ ทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งในพื้นที่อ่าวปัตตานี ที่ส่งผลกระทบถึงรายได้ และการดำรงชีพทางด้านต่าง ๆ ของประชาชน

รศ.ดร. ซุกรี หะยีสาแม กล่าวว่า อ่าวปัตตานี ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองปัตตานี และ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นอ่าวที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นฐานการดำรงชีวิตที่มีความสำคัญของชุมชนชาวปัตตานีอย่างแท้จริง ในช่วงที่ผ่านมาอ่าวปัตตานีประสบกับภาวะเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและ ทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งในพื้นที่อ่าวปัตตานีอันเนื่องมาจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ขาดการควบคุม มีการ ขยายตัวของชุมชนเมือง เกษตรกรรม อุตสาหกรรม บนฝั่งแม่น้ำและบริเวณอ่าวปัตตานี 

การขยายตัวของพื้นที่นากุ้ง เป็นผลให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลน รวมถึงป่าต้นน้ำถูกบุกรุกแผ้วถางและบางแห่ง มีสภาพเสื่อมโทรม ส่งผลต่อความตื้นเขินของอ่าว การกัดเซาะชายฝั่ง คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม และที่สำคัญ มีการประมงเชิงพาณิชย์ที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย ชาวประมงพื้นบ้านต้องสูญเสียแหล่งผลิตอาหารเพื่อยังชีพ มีการอพยพทิ้งถิ่นอาศัยเพื่อหางานทำในพื้นที่อื่น ทำให้ชาวบ้านประสบกับปัญหาความยากจนและเกิด ปัญหาด้านต่างๆ เป็นลูกโซ่ตามมา

คณะนักวิจัย จึงดำเนินการระดมความคิดเห็น และเก็บข้อมูล ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และประสานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านการฟื้นฟูและปรับปรุงอ่าวปัตตานี สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและพื้นที่จังหวัดปัตตานี ดำเนินการร่างแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศอ่าวปัตตานี พ.ศ. 2558 – 2562 ขึ้น 

แต่การนำยุทธศาสตร์ดังกล่าวไปใช้ให้เป็นรูปธรรมในพื้นที่สามารถทำได้น้อย เพราะส่วนใหญ่การดำเนินงาน เป็นการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงาน จึงทำให้สภาพปัญหาสำคัญและแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมยังคงได้รับการแก้ไขปัญหาได้ไม่มากนัก และแทบจะไม่มีแนวทาง รูปแบบและวิธีการใหม่ที่เป็นแผนแม่บท เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพความเป็นอยู่ชุมชนโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคมจะยิ่งเกิดความเดือดร้อนและยากลำบาก และในอนาคตอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในประเทศได้

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้คณะนักวิจัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญจึงเริ่มศึกษาวิจัยจัดทำแผนแม่บทในลักษณะของการชี้แนวทางการแก้ไขปัญหาและสร้างโอกาสใหม่สำหรับชุมชนรอบอ่าวปัตตานีที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ใช้ทรัพยากรรอบอ่าวปัตตานีเป็นพื้นฐาน ในโครงการ “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตฐานรากชุมชนชายฝั่ง โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย : กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี” มีโครงการตามแผนการดำเนินงาน จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1) ข้อมูลพื้นฐานด้านลักษณะทางภูมิศาสตร์ สมุทรศาสตร์ ทรัพยากรชีวภาพที่สำคัญ ประเด็นข้อกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้อง และรูปแบบการใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ของอ่าวปัตตานี มีความจำเป็นต่อการกำหนดแผนแม่บทการจัดการ

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตฐานรากชุมชนชายฝั่งรอบอ่าวปัตตานี 2) การพัฒนาต้นแบบในการยกระดับการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอ่าวปัตตานีด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตฐานรากชุมชนชายฝั่ง เช่น ด้านการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การท่องเที่ยว และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จการพัฒนาแผนแม่บทและการนำไปประยุกต์ใช้และ 3) การจัดทำแม่บทการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตฐานรากชุมชนชายฝั่งรอบอ่าวปัตตานีที่จัดทำขึ้น เพื่อจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการอ่าวปัตตานีเพื่อใช้ประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตฐานรากชุมชนชายฝั่งรอบอ่าวปัตตานี

การลงพื้นที่เยี่ยมชม และติดตามโครงการวิจัยในครั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ได้เยี่ยมชมบริเวณปากอ่าวปัตตานี ณ ท่าเทียบเรือประมงน้ำลึกปัตตานี โดยมี ตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลบานา จังหวัดปัตตานี เป็นผู้บรรยายถึงสภาพปัจจุบันและปัญหาที่เกิดขึ้นในอ่าวปัตตานี จากนั้นได้เดินทางไปยังพื้นที่นาเกลือหวานปัตตานี เพื่อเยี่ยมชมการสาธิตการทำนาเกลือหวาน และในช่วงบ่าย ได้เดินทางไปยังสะพานไม้บานา เพื่อพบปะและพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักวิจัย ตัวแทนกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ตัวแทนกลุ่มท่องเที่ยวชุมชน กลุ่มเพาะสัตว์น้ำ เพื่อสะท้อนประเด็นปัญหา และการดำเนินงานของชุมชนที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ อ่าวปัตตานี ถือว่าเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชาวปัตตานี 
ที่มีคุณค่าและมีเอกลักษณ์เฉพาะในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพและอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพสูงมาก จึงทำให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจสำคัญของชุมชนรอบอ่าวและอุตสาหกรรมประมงจังหวัดปัตตานี อีกด้วย

Friday, July 15, 2022

วช.หนุนงานวิจัย “เฮมพ์-พารา วอลล์” วัสดุก่อผนังฉนวนความร้อนจากแกนกัญชงอัดน้ำยางธรรมชาติ ผลงานเหรียญทองจากเวทีสิ่งประดิษฐ์นานาชาติเจนีวา

ชูผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  เพิ่มมูลค่าสิ่งเหลือทิ้งทางการเกษตร  นักวิจัยเผยนวัตกรรมนี้เหมาะใช้ในอาคารประหยัดพลังงาน  แข็งแรงเท่าอิฐมวลเบา น้ำหนักน้อยกว่าและเป็นฉนวนกันความร้อนและเสียงได้ดี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม   ได้ผลักดันการพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัย และการประดิษฐ์คิดค้นให้กับนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยอย่างต่อเนื่องผ่านการประกวดและนำเสนอผลงานในเวทีระดับนานาชาติ รวมถึงเปิดโอกาสให้มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ
ระหว่างหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนนำผลงานนักวิจัยและนักประดิษฐ์ของไทยให้มีการรับรองมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในเชิงพาณิชย์  สามารถต่อยอดพัฒนาผลงานไปสู่การใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ  ได้ อย่างเช่น ผลงานวิจัย “ เฮมพ์-พารา วอลล์ : วัสดุก่อผนังฉนวนความร้อนจากแกนกัญชงอัดน้ำยางธรรมชาติ”  ที่มี ดร.ประชุม  คำพุฒ แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์  
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  (มทร.ธัญบุรี) เป็นหัวหน้าทีมวิจัย  ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ในการส่งเข้าประกวดในงาน “SPECIAL EDITION 2022-INVENTION GENEVA EVALUATION DAYS”  จัดโดย Salon International des Inventions de Genève ณ สมาพันธรัฐสวิส (ออนไลน์) ระหว่างวันที่ 16-20 มีนาคม 2565  และได้รับรางวัลระดับ GOLD  MEDAL  โดยเป็นผลงานวิจัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งเหลือทิ้งทางการเกษตรสอดรับกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจบีซีจี และยังสามารถพัฒนาเป็นวัสดุก่อสร้างที่มีคุณสมบัติโดดเด่นและมีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
   
 ดร.ประชุม  คำพุฒ  หัวหน้าหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีการปลูกกัญชงเพื่อเป็นสินค้าทั้งเครื่องสำอาง สิ่งทอ และยารักษาโรค  ทำให้ปัจจุบันกัญชงได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีพื้นที่เพาะปลูกขยายจากเดิมจำนวนมาก โดยกัญชงสามารถปลูกได้ทั่วประเทศ ทั้งสายพันธุ์ที่สกัดสารและสายพันธุ์ที่ทำการลอกเปลือกไปแปรรูปทอเป็นเส้นด้ายในอุตสาหกรรมสิ่งทอ การลอกเปลือกกัญชงออก  ทำให้เหลือแกนกัญชงหรือ “แกนเฮมพ์” (Hemp Stalk) ในแปลงปลูกเป็นจำนวนมากที่ต้องกำจัดทิ้ง   
ทางผู้ประกอบการและชุมชน จึงต้องการทำเป็น Zero Waste ด้วยการเพิ่มมูลค่าจากแกนกัญชงเหลือทิ้ง   
หน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ของ มทร.ธัญบุรี  จึงได้นำจุดเด่นของแกนกัญชงที่มีน้ำหนักเบาและมีความสวยงามเป็นธรรมชาติมาผลิตเป็นอิฐไม้เทียมที่สามารถใช้ก่อผนังอาคารสำหรับงานตกแต่งภายใน ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์พลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม   ทั้งนี้งานวิจัย “เฮมพ์-พารา วอลล์”   ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากโครงการแพลตฟอร์มบริหารจัดการทรัพยากรผู้มีศักยภาพของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อปฏิรูปการพัฒนากำลังคนของประเทศ (บพค.) และทำโครงการร่วมกับภาคเอกชนคือ บริษัท ดีดี เนเจอร์ คราฟท์ จำกัด และบริษัท เฮมพ์ไทย จำกัด  
    สำหรับกระบวนการผลิตวัสดุก่อผนังฉนวนความร้อนจากแกนกัญชงอัดน้ำยางธรรมชาตินั้น มีขั้นตอนวิธีผลิตโดยทำการบดย่อยแกนกัญชงให้มีขนาดต่าง ๆ ตามต้องการ และนำไปขึ้นรูปเป็นก้อนอิฐไม้เทียมด้วยวิธีการอัดขึ้นรูปด้วยความร้อนโดยใช้สารเชื่อมประสานที่เป็นน้ำยางธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการเสริมความแข็งแรงให้กับน้ำยาง กำหนดค่าอุณหภูมิความร้อน  แรงอัด ปริมาณวัสดุ และระยะเวลาที่ใช้ในการอัดขึ้นรูป ทำการอัดขึ้นรูปเป็นแผ่นอัดขนาดใหญ่ให้มีความหนา 4 ซม. แล้วทำการตัดแต่งให้มีขนาดเท่ากับอิฐก่อสร้างสามัญ สามารถทำเดือยในลักษณะเลโก้เพื่อก่อซ้อนเป็นชั้น ๆ ได้ 
การผลิตก้อนอิฐไม้เทียม เฮมพ์-พารา วอลล์ ในปัจจุบันมีคุณสมบัติผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.77-2545 เรื่องอิฐก่อสร้างสามัญ  โดยจากผลการทดสอบพบว่ามีลักษณะทั่วไปเป็นไปตามเกณฑ์กำหนด มีมิติขนาด ± ไม่เกิน 2 มม. มีค่าความต้านทานแรงอัดมากกว่า 2.5 MPa มีค่าสัมประสิทธิ์การนำความร้อน 0.075 วัตต์-ม./องศาเคลวิน  จึงมีคุณสมบัติด้านความแข็งแรง มีน้ำหนักเบา และยังเป็นฉนวนป้องกันความร้อนและเสียง
   
  ดร.ประชุม กล่าวถึงจุดเด่นของงานวิจัยนี้ว่า  เฮมพ์-พารา วอลล์ เป็นผนังอิฐไม้เทียมมวลเบาจากแกนกัญชงที่สามารถผสมน้ำยางธรรมชาติแล้วขึ้นรูปด้วยการอัดร้อนเป็นแผ่นไม้เทียมที่มีความแข็งแรงความหนามาก ๆ ได้ ซึ่งดีกว่าแผ่นวัสดุทดแทนไม้แบบเดิมที่ใช้กาวเคมีเป็นสารเชื่อมประสาน ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม   ชิ้นงานผลิตภัณฑ์จะมีความแข็งแรงเหมือนกับอิฐมอญ แต่น้ำหนักเบากว่าอิฐมวลเบา  เป็นฉนวนป้องกันความร้อนและกันเสียงได้ดีมาก  อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม จึงเหมาะสมในการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ใช้ก่อผนังภายในอาคารอนุรักษ์พลังงานหรือบ้านประหยัดพลังงาน
    ส่วนการต่อยอดขยายผลโครงการวิจัยในเชิงพาณิชย์ในอนาคต  ทีมวิจัยคาดหวังว่าจะมีการสนับสนุนผู้ประกอบการให้ได้รับถ่ายทอดองค์ความรู้ไปใช้ในการลงทุนการผลิตเพื่อจำหน่ายร่วมกับวิสาหกิจชุมชน โดยขยายผลไปสู่เกษตรกรผู้ปลูกกัญชง ชุมชนชาวเขา กลุ่มเปราะบางที่สนใจเป็นพันธมิตร  ทั้งนี้ปัจจุบันมีการสั่งผลิตเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ  
นอกจากนี้แกนกัญชงยังมีคุณสมบัติที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้อีกหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมก่อสร้างสมัยใหม่ที่เน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน.

Monday, June 20, 2022

วช. ชี้แจงกรอบการวิจัย ประจำปี 2566 พร้อมแถลงผลสำเร็จ ด้านสัตว์เศรษฐกิจ ปิดท้ายงาน NRCT Open House 2022

วันที่ 19 มิถุนายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรมประจำปีงบประมาณ 2566 การแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม และแนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ด้านสัตว์เศรษฐกิจ NRCT Open House 2022 “วิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายของประเทศ” 
เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมและการยื่นขอทุน วช. ด้านสัตว์เศรษฐกิจ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุม ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom รวมทั้งการถ่ายทอดสด (Live Steaming) ผ่าน Facebook ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้จัด การประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 การแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม และแนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ในวันนี้จัดขึ้นเป็นวันที่แปด ปิดท้ายงาน NRCT Open House 2022 ด้วยการประชุมด้านสัตว์เศรษฐกิจ 
ปัจจุบันได้มีการนำระบบ ววน. เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพทางเลือกหรืออาชีพเสริมให้แก่เกษตรกรด้วยสัตว์เศรษฐกิจ โดย วช. ได้ให้การสนับสนุนเกษตรกรในการคัดเลือกสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ ๆ ที่มีโอกาสในการแข่งขันและมีต้นทุนไม่สูงมาก อาทิ ไก่พื้นเมือง จิ้งหรีด ปลาสวยงาม หรือ แพะ รวมถึง ปูม้า ซึ่งสร้างมูลค่า สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างมาก ซึ่งในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา วช. ยังคงสนับสนุนในการขยายผลจากนำงานวิจัยและ
นวัตกรรมมาช่วยในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน ด้วยการขับเคลื่อนตามแนวทาง BCG โดยส่วนของสัตว์เศรษฐกิจที่ วช. ดูแล ได้ขับเคลื่อนโครงการตามยุทธศาสตร์ ววน. ซึ่งมีเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่จะช่วยขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำโดยการลดช่องว่างของการเข้าถึงโอกาสด้านการพัฒนาอาชีพ การสร้างความเข้มแข็งและยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจของ
เศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมองค์ความรู้ผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs และในปี 2566 วช. จะเปิดรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ด้านสัตว์เศรษฐกิจใน 2 กลุ่มเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มเรื่องสัตว์น้ำและพรรณไม้น้ำสวยงาม และกลุ่มเรืองแพะ ซึ่งจะมุ่งเน้นในเชิงพาณิชย์ 
เพื่อสร้างโอกาส สร้างปัจจัย สร้างองค์ความรู้ในการผลิตให้กับนักวิจัย เกษตรกร และผู้ประกอบการ
“วช. มุ่งเน้นที่จะให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางอาชีพ มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีนวัตกรรมที่จะช่วยพัฒนาให้สินค้าไปสู่ระดับ Premium ได้ มุ่งเน้นการยกระดับรายได้ ขยายผลองค์ความรู้ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมให้เป็นรูปธรรม เกิดการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่ครบวงจรมากขึ้น” ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวทิ้งท้าย
ภายในงานมีการเสวนา เรื่อง “แนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม 
ด้านสัตว์เศรษฐกิจ: สัตว์น้ำและพรรณไม้น้ำสวยงามเชิงพาณิชย์ และกรอบการวิจัยด้านแพะ ประจำปีงบประมาณ 2566” โดย ดร.วารินทร์ ธนาสมหวัง, รศ.ดร.สุชน ตั้งทวีวิพัฒน์, รศ.ดร.วราห์ เทพาหุดี และ
นางอรุณี รอดลอย ร่วมเสวนา และมี ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร เป็นผู้ดำเนินรายการและร่วมเสวนา และภาคบ่ายเป็นการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านด้านสัตว์เศรษฐกิจ และแลกเปลี่ยน
ประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม โดย รศ.ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์, ผศ.น.สพ.ดร.สุวิทย์ โชตินันท์, ผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี และ ผศ.ดร.สุภฎา คีรีรัฐนิคม 
สำหรับการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรมประจำปีงบประมาณ 2566 และการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2022 วันนี้จัดขึ้นเป็นวันสุดท้าย โดย วช. จะเปิดรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2565 โดยนักวิจัยต้องยืนยันการเข้าร่วมทำวิจัยในระบบ NRIIS ภายในวันที่ 11 สิงหาคม 2565 เวลา 18.00 น. ส่วนหน่วยงานต้นสังกัดของนักวิจัย ต้องรับรองข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ในระบบ NRIIS ภายในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 เวลา 18.00 น. การประกาศผลการพิจารณา วช. จะประกาศผ่านเว็บไซต์ www.nrct.go.th และ https://nriis.go.th