Showing posts with label #วช#อูบุนนาค. Show all posts
Showing posts with label #วช#อูบุนนาค. Show all posts

Monday, November 27, 2023

วช. และ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมลงนาม MOU พัฒนาความร่วมมือด้านวิจัยและนวัตกรรม


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียว (Huaqiao University) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ระหว่าง วช. และ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว 
โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  และ Professor Lin Hongyu  รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียว ร่วมลงนามความร่วมมือ พร้อมนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ Professor Xu Xipeng เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมหาวิทยาลัยหัวเฉียว ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน การลงนามความร่วมมือจัดขึ้นระหว่างการสัมมนายุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 12 ที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2566 ณ Chen Yankui Building มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ความร่วมมือระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ มหาวิทยาล้ยหัวเฉียว แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีขึ้นตั้งแต่ ปีพ.ศ.2555 โดยได้มีความร่วมมือทางวิชาการด้านยุทธศาสตร์วิจัยไทย-จีน มาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี โดยในปี 2566 วช. และ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว ได้ร่วมกันพัฒนากรอบความร่วมมือในเป้าหมายท้าทายใหม่ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางความร่วมมือ
 ที่สอดคล้องกับแนวนโยบายของประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน พร้อมมุ่งหมายให้บทบาทระหว่างจีนกับไทย ในการดำเนินการต่าง สามารถบูรณาการประเด็นทางวิชาการและวิทยาการ ไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในประเด็นสำคัญ เพือนำสู่การกำหนดเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัย ไทย – จีน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกันทั้งสองประเทศ

มหาวิทยาลัยหัวเฉียว แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และ วช. ร่วมจัดการสัมมนายุทธศาสตร์ไทย – จีน ครั้งที่ 12 “ร่วมสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกันในยุคใหม่”

มหาวิทยาลัยหัวเฉียว (Huaqiao University) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน และสมาคมจีนเพื่อการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (China Society for Southeast Asian Studies) จัดการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 12” (The 12th  Thai – Chinese Strategic Research Seminar) ภายใต้หัวข้อเรื่อง “ร่วมสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกันในยุคใหม่ (Jointly Building a China-Thailand Community with a Shared Future in the New Era)” ระหว่างวันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ในพิธีเปิดการสัมมนา ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ Professor  Xu Xipeng เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ แห่งมหาวิทยาลัยหัวเฉียว พร้อมด้วย ดร.ณรงค์ศักดิ์ บุณยมาลิก  กรรมการบริหารสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในการกล่าวเปิดการสัมมนา 

พร้อมนี้ ในการปาฐกถาพิเศษ ได้รับเกียรติจาก Keynote speaker 3 ท่านได้แก่
-Prof.Yu Hongjun อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน และอดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำอุซเบกิสถาน ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก การพัฒนาและความร่วมมือของภูมิภาค” 
-ศาสตราจารย์ กิตติคุณ นพ. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “One Road One Destination” 
 -Prof. Fang Ning อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยรัฐศาสตร์ สถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์ (CASS)
ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความหวังใหม่ของความทันสมัยของจีน”

สำหรับในปี 2566 นี้ ฝ่ายจีนได้เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนา ณ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการสัมมนาประกอบด้วยการบรรยายและการนำเสนอผลงานวิจัย ภายใต้หัวข้อย่อย ได้แก่
1) ประสบการณ์การบริหารประเทศ และการขจัดความยากจน(Poverty Reduction and Development Governance)
2) หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ในโอกาสครบรอบ 10 ปี (The 10th Anniversary of the B&R Initiative and China-Thailand Cooperation)
3) การแลกเปลี่ยนทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวไทย-จีน หลังโควิด-19 (Trade, Investment and Tourism in the Post-COVID-19 Era)
4) จีนไทยศึกษาและการเชื่อมต่อระหว่างประชาชน
(China - Thailand Studies and People-to-People Exchange)
 
การสัมมนาครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาความรู้และความเข้าใจ เกี่ยวกับบทบาทระหว่างจีนกับไทย ในการดำเนินการในประเด็นสำคัญด้านการวิจัยอย่างบูรณาการ ตลอดจนพัฒนาการกำหนดเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัย ไทย – จีน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกันของทั้งสองประเทศ

Thursday, November 16, 2023

วช. นำทีมนักวิจัย ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เร่งแก้ปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง เพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดย รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม พร้อมด้วย คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการ “การวางแผนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรผู้ใช้น้ำและภาคีหน่วยงานระดับท้องถิ่น-จังหวัด ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม ระยะ 3” โดยมี นายชิษนุวัฒน์  มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการวิจัย และ นายสุรพล สินจันอัด
รองนายกองค์การบริหารส่วนตําบลกุดเพียขอม

ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย คณะนักวิจัยจากบริษัท สร้างสรรค์ปัญญา จำกัด ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม คณะกรรมการองค์กรผู้ใช้น้ำ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดขอนแก่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 15 – 16 พฤศจิกายน 2566 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลศรีบุญเรือง และองค์การบริหารส่วนตำบลกุดเพียขอม อำเภอชนบท และ สถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น              

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม เปิดเผยว่า ผลสำเร็จจากโครงการวิจัยที่เกิดขึ้นเป็นการแลกเปลี่ยนปัญหาเชิงพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลจริงที่ได้จากข้อมูลระบบสารสนเทศด้านการจัดการน้ำที่มีในตำบลนำมาใช้ในการประเมินประกอบการตัดสินใจเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำแล้งในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีสู่การขยายผลของโครงการต่อยอดไปยังชุมชนต่าง ๆ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจากองค์กรผู้ใช้น้ำกับภาคีหน่วยงานระดับท้องถิ่น และจังหวัดร่วมมือกันในการ
บูรณาการในทุกมิติสู่การวางแผนการใช้น้ำ ผ่านกลไกความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของชุมชนได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรม โดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ จะนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาชนมีน้ำใช้และทั่วถึงเพื่อรับมือวิกฤติภัยแล้งพื้นจังหวัดขอนแก่นได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า โครงการ “การวางแผนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรผู้ใช้น้ำและภาคีหน่วยงานระดับท้องถิ่น-จังหวัด ในพื้นที่จังหวัดตัวอย่างเพื่อการประหยัดน้ำ ใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและใช้วิทยาการพร้อมการขับเคลื่อน” เป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. เพื่อเป็นการขยายผลรูปธรรมการดำเนินงานการขับเคลื่อนองค์กรผู้ใช้น้ำ ตลอดจนการเพิ่มพื้นที่ดำเนินงานของชุมชนที่จะลุกขึ้นมาเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการจัดการน้ำของชุมชนโดยมุ่งเน้นไปที่จังหวัดน่านและจังหวัดขอนแก่นที่มีต้นทุนแกนนำชุมชน เครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ ตลอดจนภาคีหน่วยงานที่เข้ามาร่วมดำเนินการที่มีความพร้อม เพื่อค้นหาชุดความรู้ในการผลักดันรูปธรรมในพื้นที่ไปสู่การขยายผลการดำเนินงานในการจัดการน้ำทั้งจังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น 26 อำเภอ และ จังหวัดน่าน 15 อำเภอ พร้อมกับเน้นการพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรผู้ใช้น้ำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดในการผลักดันให้เกิดรูปธรรมการบริหารจัดการน้ำของพื้นที่เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินงานร่วมกันตั้งแต่ในระดับพื้นที่ไปสู่คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ตลอดจนคณะกรรมการลุ่มน้ำ พร้อมกันนั้นยังจะช่วยยกระดับพื้นที่รูปธรรมองค์กรผู้ใช้น้ำจาก 5 ตำบลในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดน่าน ให้เป็นตัวอย่างในการจัดการผังน้ำเชื่อมโยงกับการจัดการที่ดิน ผ่านระบบสารสนเทศด้านน้ำที่มีในตำบล ส่งข้อมูลกับให้องค์การบริหารส่วนตำบลและเจ้าหน้าที่สามารถนำข้อมูลมาใช้ประกอบการวางแผนการบริหารจัดการน้ำและได้ข้อมูลจริงที่นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจจัดทำแผนน้ำของตำบลเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำแล้ง สามารถนำแผนเข้าสู่ระบบ Thai Water Plan (TWP) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งประเมินผลทางเศรษฐกิจและสังคมขององค์กรผู้ใช้น้ำที่จะส่งผลต่อการพัฒนาชีวิตของคนในพื้นที่ต่อไป

ต่อมา คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. พร้อมด้วย คณะนักวิจัย ลงพื้นที่ ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เพื่อศึกษาดูงานพื้นที่ตัวอย่างในการขยายผลการวางแผนน้ำชุมชนและการใช้ระบบสารสนเทศการจัดการน้ำชุมชนพื้นที่ พร้อมรับฟังปัญหา แลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการดำเนินงานของทีมวิจัยในพื้นที่

จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีคณะกรรมการองค์กรผู้ใช้น้ำ ตำบลศรีบุญเรือง แกนนำชุมชน ผู้บริหารองค์การบริหารส่วน ตำบลศรีบุญเรือง หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เข้าร่วมรับฟัง โดย นายสุชาติ พรมดี นายกองค์การบริหารตำบลศรีบุญเรือง ให้การต้อนรับ

จากนั้น คณะได้เดินทางไปยัง สถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อประสานงานกับทีมวิชาการในการจัดทำแผนน้ำท่วมและแก้ไขน้ำแล้ง จังหวัดขอนแก่น โดย ผศ.ดร.โพยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน และคณะ ให้การต้อนรับ 

ซึ่งการดำเนินโครงการครั้งนี้ ได้เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการพัฒนาชุดความรู้และคู่มือที่จะช่วยคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อช่วยในการจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการน้ำในระดับท้องถิ่นและจังหวัด ซึ่ง รศ.ดร.กิตติเวช ขันติยวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์วิศวกรรมทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม ได้อธิบายถึง ระบบจัดการภัยพิบัติแบบอัจฉริยะ ที่ให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ บน Dashboard แหล่งรวมข้อมูลน้ำทั้งหมด ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้

 ด้าน นายรุจติศักดิ์ รังษี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดขอนแก่น ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ที่จะช่วยเสริมการจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำแต่ละจังหวัด ผ่าน
การบูรณาการร่วมกัน และ ผศ.น.สพ.ดร.วินัย แก้วละมุล สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร ได้แลกเปลี่ยนบทเรียนและกระบวนการดำเนินงานวิจัย ในการขับเคลื่อนแผนการบริหารจัดการน้ำผ่านกลไกหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดน่าน โดยการจัดตั้งองค์กรจัดการน้ำจังหวัดน่านขึ้น ข้อมูลทั้งหมดจะนำไปสู่การเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานของรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม ที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ให้สามารถมีขั้นตอนและวิธีการทำงานด้านการจัดทำแผนหลักน้ำจังหวัดได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ วช. ได้สนับสนุนการดำเนินงาน “โครงการวางแผนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรผู้ใช้น้ำและภาคีหน่วยงานระดับท้องถิ่น - จังหวัด ในพื้นที่จังหวัดตัวอย่างเพื่อการประหยัดน้ำ ใช้น้ำคุ้มค่าและใช้วิทยาการพร้อมการขับเคลื่อน” ภายใต้โครงการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม เพื่อเพิ่มความสามารถและพัฒนากลไกในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำระดับท้องถิ่น - จังหวัด ในการขับเคลื่อนแผนการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น 

พร้อมเข้าพบ นางสาวธนียา นัยพินิจ 
รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เพื่อรับฟังข้อเสนอในการใช้งานวิจัยและโจทย์วิจัยในอนาคต สู่การขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดขอนแก่น ต่อไป

Friday, April 21, 2023

วช.จัดประชุม รับฟัง “การพัฒนาแผนที่นำทางสำหรับการขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์”ยกระดับ LIMEC


(วันที่ 21 เมษายน 2566) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ครั้งที่ 1 (ความต้องการพัฒนาการขนส่งฯ) ภายใต้โครงการการพัฒนาแผนที่นำทางสำหรับการขนส่งที่ชาญฉลาด
และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ ประธานเครือข่ายวิชาการโลจิสติกส์อาเซียน ASEAN Logistics Academic Network (ALA) กล่าวรายงานการประชุม ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญประการคือการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม โดย วช. ได้เห็นความสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในมิติการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ
 ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาชีพและมีรายได้ที่สูงขึ้น โดยการขับเคลื่อนการดำเนินงานในประเด็นความต้องการพัฒนาจังหวัดตามนโยบายของรัฐ เพื่อการขยายผลการนำองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมฐานรากได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยนเรศวร
 ดำเนินการศึกษา “การพัฒนาแผนที่นำทางการพัฒนาระบบขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์” ซึ่งมุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนเชิงนโยบายในประเด็นแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งที่สอดคล้องเหมาะสมกับจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ บนฐานความคิดของการพัฒนาระบบขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังประเมินผลกระทบเบื้องต้นที่อาจเกิดขึ้น
จากการดำเนินโครงการพัฒนาระบบขนส่ง ที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อพื้นที่ในมิติต่าง ๆ โดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาที่เกิดขึ้นเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา
 และสำคัญที่สุด คือ ภาคประชาชน จนสำเร็จลุล่วง กลายเป็นแผนที่นำทางสำหรับการขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์อย่างแท้จริง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมรับฟังความคิดเห็นการขับเคลื่อนเชิงนโยบายในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาจะถูกนำส่งไปยังหน่วยงานที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายในสังกัดกระทรวงคมนาคม
 ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นก้าวที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ ในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC ยกระดับไปสู่การพัฒนาในระดับประเทศต่อไป
 ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ ประธานเครือข่ายวิชาการโลจิสติกส์อาเซียน ASEAN Logistics Academic Network (ALA) ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยนเรศวร โดย คณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน ได้รับการอนุมัติทุน จาก วช. เพื่อดำเนินการโครงการวิจัย “การพัฒนาแผนที่นำทางสำหรับการขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์” เพื่อจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) สำหรับการพัฒนาระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในพื้นที่ 
เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผน กำหนดทิศทาง และแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพในการเชื่อมโยงการเดินทางของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ที่มีศักยภาพสูงและมีความสำคัญในระดับภูมิภาคต่อไปนั้น การวิจัยได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ส่วนหลักตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย ประกอบด้วย 1) การศึกษาความต้องการพัฒนาการขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ 
2) การศึกษารูปแบบการพัฒนาการขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ และ 3) การจัดทำแผนที่นำทางการพัฒนาสำหรับการขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ การดำเนินงานที่ผ่านมาคณะผู้วิจัยได้เปิดการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการพัฒนาของพื้นที่ที่จะนำไปสู่การขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชนเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว จึงเป็นที่มาของการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการซึ่งเป็นกิจกรรมการประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ครั้งที่ 1 เพื่อศึกษาความต้องการพัฒนาการขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ ภายใต้แนวคิดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กิจกรรมประกอบด้วยการนำเสนอภาพรวมของโครงการวิจัย ผลการศึกษาความต้องการพัฒนาการขนส่งฯ และสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 ของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ การประชุมระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการเสนอแนะเชิงนโยบายมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อความต้องการพัฒนาการขนส่งฯ ในการจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) สำหรับการพัฒนาระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผน กำหนดทิศทาง และแนวทางการพัฒนาระบบขนส่ง สู่การพัฒนาการขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกระดับสู่การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC ได้อย่างยั่งยืน

วช. หนุนทีมวิจัย สจล. พัฒนาเครื่องผลิตรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ขนาดกึ่งอุตสาหกรรม รองรับความต้องการของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต


  พร้อมประยุกต์ใช้อลูมินา-รีดิวซ์กราฟีนออกไซด์เมมเบรน สำหรับแยกก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์ในกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงจากชีวมวล สร้างแหล่งพลังงานทดแทนเพิ่มมูลค่าให้วัสดุเหลือทิ้ง รวมถึงใช้กำจัดก๊าซพิษไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) จากโรงงานอุตสาหกรรม ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วัสดุรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ (Reduced Graphene oxide, RGO) เป็นวัสดุที่มีความสำคัญอย่างมากในอุตสาหกรรมต่างๆ ในอนาคต เช่น วัสดุผลิตหมึกนำไฟฟ้าสำหรับวงจรอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ วัสดุโปร่งแสงนำไฟฟ้า วัสดุผสมเสริมความเข็งแรงในโพลิเมอร์ ซีเมนต์ ยางพารา  วัสดุทางการแพทย์ การนำส่งยา ต้านแบคทีเรีย 
 เสริมแรงไหมเย็บแผล วัสดุผลิตไฟฟ้าโซล่าเซลล์  ตัวกักเก็บพลังงาน ทำขั้วแบตเตอรี่ ตัวเก็บประจุยิ่งยวด  เสริมความแข็งแรงเสื้อเกราะกันกระสุน  และตัวตรวจวัดต่าง ๆ แต่วัสดุรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ยังมีราคาที่สูง เนื่องจากมีกระบวนการสังเคราะห์ที่ซับซ้อนและสามารถเตรียมได้ในปริมาณที่น้อย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 

ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาวัสดุรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ ซึ่งเป็นวัสดุแห่งอนาคตที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และเชื่อมโยงองค์ความรู้สู่การขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ หรือ New S-Curve ให้กับประเทศไทย จึงให้ทุนสนับสนุนการวิจัยประจำปี 2563 แก่โครงการ  “การพัฒนาเครื่องผลิตรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์และการประยุกต์ใช้รีดิวซ์กราฟีนออกไซด์

ผลิตอลูมินา-รีดิวซ์กราฟีนออกไซด์เมมเบรน แยกก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์ และกำจัดไฮโดรเจนซัลไฟด์” ซึ่งมี “รองศาสตราจารย์ ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์” จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นหัวหน้าโครงการฯ  เพื่อให้สามารถเตรียมวัสดุรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ได้เองภายในประเทศไทย และเพียงพอต่อความต้องการในระดับอุตสาหกรรมในอนาคต  

รองศาสตราจารย์ ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ หัวหน้าหน่วยวิจัยและนวัตกรรมด้านวัสดุอัจฉริยะ ภาควิชาฟิสิกส์คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ทีมวิจัยได้มีการพัฒนาต้นแบบเครื่องผลิตรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ขนาดกึ่งอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ด้วยวิธีการออกซิเดชัน–รีดักชันทางเคมี โดยขยายขนาดกำลังผลิต 

จากเดิม 2 ลิตร (40 กรัมผง) ไปเป็นขนาดกำลังผลิต 5 ลิตร (80 กรัมผง) ต่อรอบการผลิต ซึ่งมีการวางแปลนการสร้างเครื่องต้นแบบผลิตรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ระดับกึ่งอุตสาหกรรม ที่สามารถผลิตได้ทั้งวัสดุกราฟีนออกไซด์และรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ในขั้นตอนเดียว เครื่องต้นแบบดังกล่าวจะมีการติดตั้งภายในห้องหน่วยวิจัยและนวัตกรรมด้านวัสดุอัจฉริยะ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 

นอกจากนี้ยังมีการวิจัยในส่วนที่ขนานกับการสร้างต้นแบบเครื่องผลิตรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ โดยเป็นการพัฒนาวัสดุคอมโพสิตอลูมินา-กราฟีน สำหรับใช้ผลิตก๊าซไฮโดรเจนที่มีความบริสุทธิ์สูง และกำจัดไฮโดรเจนซัลไฟด์ โดยอลูมินา-กราฟีนที่ผลิตขึ้น สามารถนำไปใช้เป็นเมมเบรนสำหรับแยกก๊าซไฮโดรเจนออกจากก๊าซผลิตภัณฑ์จากกระบวนการแก๊สซิฟิเคชันของชีวมวลหรือวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรในประเทศไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้วัสดุเหลือทิ้ง และใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทน ขณะเดียวกันอลูมินา-กราฟีน ยังสามารถนำไปใช้เป็นเมมเบรนเพื่อกำจัดก๊าซพิษไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) จากโรงงานอุตสาหกรรมที่จะปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการเติมกราฟีนในปริมาณที่เพิ่มขึ้นจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเลือกผ่านไฮโดรเจน และกำจัด H2S ได้ดีขึ้น ที่ผ่านมากราฟีนออกไซด์ยังต้องนำเข้าและมีราคาแพง หากทำการผลิตได้เองเป็นจำนวนมากก็จะสามารถนำกราฟีนมาประยุกต์ใช้กับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแก่เมมเบรนในต้นทุนที่ถูกลงได้
  
โครงการวิจัยจึงมุ่งเน้นทำการศึกษาการผลิตเมมเบรนชนิดใหม่ที่ทำจากเซรามิกชนิดอลูมินาซึ่งมีสมบัติทางกลที่ดีและราคาไม่แพง และทำการเติมกราฟีนเข้าไปเพื่อปรับปรุงสมบัติในการเลือกผ่านและไหลผ่านของก๊าซไฮโดรเจน  โดยจะทำการศึกษาอิทธิพลของปริมาณกราฟีนที่เติมเข้าไปต่อความสามารถในการขึ้นรูปโดยวิธีเผาผนึกเป็นเซรามิกเมมเบรนแบบรูพรุน  และทำการปริมาณการเติมกราฟีนที่เหมาะสมเพื่อให้ได้เซรามิกเมมเบรนที่มีประสิทธิภาพ เทียบเท่าหรือดีกว่าพลาเดียมเมมเบรน รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการนำอลูมินา-กราฟีนเมมเบรนมาใช้การกำจัดก๊าซพิษ H2S  
  
รองศาสตราจารย์ ดร.เชรษฐา กล่าวว่า ในงานวิจัยนี้ได้มีการนำเอากราฟีนออกไซด์ที่ได้ผลิตขึ้นมาไปทดลองประยุกต์ใช้ในการผลิตเมมเบรนสำหรับใช้แยกก๊าซไฮโดรเจน โดยกระบวนการผลิตคอมพอสิตเมมเบรนชนิดอลูมินา-กราฟีนออกไซด์ ซึ่งการวิจัยนี้สามารถทำได้โดยกระบวนการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน มีการนำสารตั้งต้นคืออลูมินา ผสมกับกราฟีนออกไซด์ในอัตราส่วน 0.5–5.0 wt% แล้วทำการเผาผนึกที่อุณหภูมิ 1,600 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 ชั่วโมง จากผลการทดสอบทางกายภาพ ทางกล และสมบัติการเลือกผ่านของก๊าซ พบว่าอลูมินา-กราฟีนออกไซด์คอมพอสิตที่มีส่วนผสมของกราฟีนออกไซด์ในปริมาณ 5 wt% มีแนวโน้มเหมาะกับการนำไปใช้งานได้ดี โดยค่าการซึมผ่านของก๊าซไฮโดรเจนอยู่ที่ 2.85 x 10-4 mol m-2 s-1 Pa-1 และมีค่าการเลือกผ่านเป็น 5.1 เมื่อทดสอบที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส ประสิทธิภาพการซึมผ่านของก๊าซไฮโดรเจนของเมมเบรนที่ผลิตขึ้นนี้มีค่าใกล้เคียงกับของ พลาเดียมเมมเบรนที่มีขายเชิงพาณิชย์ โดยมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าถึงประมาณ 3 เท่า แต่การเลือกผ่านนั้นยังต้องมีการปรับปรุง 

ในส่วนการศึกษาความสามารถในการดูดซับก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์นั้นคอมพอสิตที่เติม กราฟีนในปริมาณ 3 wt% เผาที่อุณหภูมิ 1500 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 ชั่วโมง มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีค่า Breakthrough time คือ 31 นาที และ H2S breakthrough capacity คือ 0.43 mg/g จากผลการทดลองเบื้องต้น เมมเบรนอลูมินา-กราฟีนออกไซด์คอมพอสิตที่ผลิตขึ้นจากงานวิจัยนี้ สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อประยุกต์ใช้ในการแยกก๊าซไฮโดรเจนจากกระบวนการเผาชีวมวลโดยกระบวนการแก๊สซิฟิเคชั่น และกำจัดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ได้

Monday, April 17, 2023

วช.หนุนทีมนักวิจัยจาก มทร.อีสาน ต่อยอดการผลิตน้ำมันไบโอเจ็ต-เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ

จากฟูเซลแอลกอฮอล์ในเชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์นโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า   กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย วช. มุ่งสนับสนุนงานวิจัยที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย 

รวมถึงรองรับการปรับตัวของภาคส่วนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างเช่น การสนับสนุนทุนวิจัยในปี 2563 ให้กับโครงการวิจัย "การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากฟูเซลแอลกอฮอล์ที่ได้จากโรงงานเอทานอล" ซึ่งมี “ รองศาสตราจารย์ ดร. อาทิตย์  อัศวสุขี” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นหัวหน้าโครงการ  โดยงานวิจัยดังกล่าวเป็นแนวทางใหม่สำหรับการผลิตน้ำมันไบโอเจ็ต โดยใช้ผลิตภัณฑ์พลอยได้ที่จากกระบวนการหมักวัสดุทางการเกษตร เพื่อเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น  

นอกจากนี้ ในปี  2565 วช.ยังได้สนับสนุนให้งานวิจัยดังกล่าวมีการต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยให้ทุนสนับสนุนในโครงการ “การศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพคาร์บอนต่ำในเชิงพาณิชย์”  ซึ่งมีความร่วมมือในการขยายสเกลการผลิตในระดับต้นแบบที่ใหญ่ขึ้น ร่วมกับภาคเอกชนในอุตสาหกรรม  ซึ่งถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ดีที่หน่วยงานภาครัฐได้ทำหน้าที่ช่วยผลักดันให้เกิดการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมขึ้นในภาคธุรกิจทั้งจากการให้ทุนวิจัยและจับคู่พันธมิตรด้านงานวิจัย รวมถึงการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนผ่านเครือข่ายการวิจัย

  รองศาสตราจารย์ ดร. อาทิตย์ อัศวสุขี  กล่าวว่า ในกระบวนการผลิตเอทานอลที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรหรือวัสดุเหลือใช้ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด กากน้ำตาล นอกจากจะให้เอทานอลเป็นผลิตภัณฑ์หลักแล้ว ยังให้ผลิตภัณฑ์พลอยได้เป็นฟูเซลแอลกอฮอล์ (Fusel alcohol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ที่มีจุดเดือดสูงกว่าเอทานอล 

 และเมื่ออัตราการผลิตเอทานอลมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ฟูเซลแอลกอฮอล์มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นด้วย  แต่อย่างไรก็ดีจากทิศทางการใช้พลังงานของประเทศไทยในภาคขนส่งที่กำลังปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณการใช้เอทานอล ซึ่งปกติจะใช้ในการผลิตแก๊สโซฮอล์ ดังนั้นการเร่งพัฒนางานวิจัยที่ศึกษาการเปลี่ยนเอทานอล รวมถึงฟูเซลแอลกอฮอล์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อผลักดันให้มีการใช้แอลกอฮอล์ในประเทศอย่างต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องสำคัญ

 คณะผู้วิจัยจึงศึกษาการเปลี่ยนแอลกอฮอล์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น น้ำมันไบโอเจ็ตสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมการบิน โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาซีโอไลต์ที่ได้รับการเติมแต่งโลหะให้มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพสูง และดำเนินการเร่งปฏิกิริยาในถังปฏิกรณ์ชนิดเบดนิ่ง (Fixed bed reactor) ที่สามารถนำไปประยุกต์ในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพได้ง่าย  

  ผลการวิจัยพบว่า เมื่อใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา และดำเนินการเร่งปฏิกิริยาการเปลี่ยนแอลกอฮอล์ในสภาวะที่เหมาะสม สามารถผลิตน้ำมันไบโอเจ็ตได้มากกว่า 57 % และเมื่อนำน้ำมันไบโอเจ็ตที่ผลิตได้ไปผสมกับน้ำมันเจ็ตเกรดการค้าจำนวน 5  %  พบว่ามีสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานสำหรับใช้เป็นนํ้ามันเครื่องบินไอพ่นทหาร (JP-8) และใช้เป็นนํ้ามันเครื่องบินไอพ่นเชิงพาณิชย์ (Jet A1)  นอกจากนี้ในกระบวนการผลิตยังให้ผลิตภัณฑ์พลอยได้อื่น ๆ เช่น เอทิลีน โพรพิลีน สารไฮโดรคาร์บอนโซ่ยาว เบนซิน โทลูอีน และไซลีน ซึ่งสามารถนำไปใช้ผลิตเป็นเม็ดพลาสติก ตัวทำละลาย สารเติมแต่ง สี เชื้อเพลิง เช่น แอลพีจี น้ำมันเบนซิน เป็นต้น 

 “จากความสำเร็จของโครงการระยะแรก ที่สามารถผลิตน้ำมันไบโอเจ็ตได้จากแอลกอฮอล์ที่ประเทศไทย มีศักยภาพในการผลิตและมีสมบัติเป็นไปตามมาตรฐาน โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพสูง ขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก ราคาไม่แพง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม    คณะผู้วิจัยได้มีการดำเนินโครงการวิจัยในระยะที่ 2    โดยมุ่งศึกษาเสถียรภาพ และการฟื้นฟูสภาพของตัวเร่งปฏิกิริยา การใช้วัตถุดิบร่วมระหว่างเอทานอลและฟูเซลแอลกอฮอล์ เพื่อให้มีปริมาณสารป้อนที่เพียงพอต่อการผลิตน้ำมันไบโอเจ็ต  มีการศึกษาคุณภาพของเชื้อเพลิงชีวภาพที่เตรียมได้ต่อประสิทธิภาพการใช้งานในเครื่องยนต์เครื่องบิน รวมถึงการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินการในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ”
    ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในทางเศรษฐศาสตร์ และมีความร่วมมือร่วมกับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และกองทัพอากาศ และเมื่อประสบความสำเร็จ  โครงการนี้จะช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศเป้าหมายให้ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 จากการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) โดยการกำหนดให้เครื่องบินจะต้องมีการเติมเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืนซึ่งเป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ และช่วยสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้ในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ