Showing posts with label #วช#NRCT#อูบุนนาค. Show all posts
Showing posts with label #วช#NRCT#อูบุนนาค. Show all posts

Wednesday, August 3, 2022

คนไทยก็ทำได้... นวัตกรรมคัดกรองโควิด-19 จากลมหายใจ ตรวจได้แบบไม่ต้องเจ็บตัว

 นักวิจัยเผยใช้จมูกอิเล็กทรอนิกส์ผสานกับแมชชีนเลิร์นนิ่งและเอไอ แยกแยะกลิ่นคนติดเชื้อได้ รู้ผลใน 5 นาที  คาดผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ภายในสิ้นปีนี้ ชมต้นแบบและทดลองใช้งานจริงที่งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นหนึ่งในปัญหาที่มีความสำคัญ  และยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ซึ่งหากไม่มีมาตรการหรือยุทธศาสตร์เชิงรุกในการควบคุมเชื้อโรคได้ดี อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นได้อีกในอนาคต สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงให้ทุนสนับสนุน “การพัฒนาระบบต้นแบบเครื่องตรวจคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แบบไม่เจ็บตัว โดยการวิเคราะห์โปรไฟล์จากลมหายใจ” ผลงานของ “นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล และคณะ” ที่ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์รูปแบบใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกในการคัดกรองผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว   
นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า นวัตกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจากการบูรณาการความเชี่ยวชาญของทีมผู้พัฒนาที่มาจากหลายหน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ  โรงพยาบาลราชวิถี มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคเอกชน โดยระบบต้นแบบเครื่องตรวจคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โดยใช้ลมหายใจนี้ ถือเป็นนวัตกรรมรูปแบบใหม่ในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยฯ ที่ไม่ต้องเจ็บตัว ไม่ต้องแยงจมูก ไม่ต้องเจาะเลือด และไม่ต้องใช้น้ำลาย  ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่มีความไว(Sensitivity) และความจำเพาะ (specificity) สูง สามารถรู้ผลตรวจได้ภายใน 5 นาที ทำให้สามารถทำการคัดแยกผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อให้ออกมาได้อย่างรวดเร็ว สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันท่วงที และลดโอกาสในการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในวงกว้างได้ โดยมีค่าใช้จ่ายในการตรวจไม่เกิน 10 บาท/คน             
 
ด้าน ดร.เธียร์สิทธิ์ นาสัมพันธ์ นักวิจัยหลังปริญญาเอก จากภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  หนึ่งในคณะผู้พัฒนา ฯ  เปิดเผยว่า งานวิจัยนี้เป็นการสร้างเครื่องสำหรับวิเคราะห์ลมหายใจ  เพื่อจำแนกกลิ่นที่แตกต่างกันของคนติดเชื้อกับคนไม่ติดเชื้อ ซึ่งเป็นการต่อยอดองค์ความรู้เดิม ที่มีการพัฒนาเครื่องที่วิเคราะห์ลมหายใจในการวิเคราะห์โรคมาแล้ว  โดยเครื่องแรกคือ 
เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในกระแสเลือดโดยใช้ลมหายใจ  ซึ่งใช้งานกับโรคเบาหวานมาแล้วกว่า 10 ปี ทำให้มีฐานข้อมูลและองค์ความรู้ เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง2-3 ปีที่ผ่านมา จึงเกิดแนวคิดในการฟอร์มทีมที่จะนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ ต่อยอดกับความเชี่ยวชาญของหน่วยงานต่างๆ ในการสร้างนวัตกรรมรูปแบบใหม่ขึ้น  
“ทีมวิจัยเริ่มเก็บข้อมูลและทดสอบเบื้องต้นตั้งแต่ปี 2563   เมื่อมีข้อมูลมากพอจนเกิดความมั่นใจ จึงเริ่มขออนุญาตทำการทดสอบในคนอย่างเป็นทางการ  และเก็บตัวอย่างมากขึ้นที่โรงพยาบาลราชวิถี ต่อมาได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ในปี 2564 ทำให้สามารถเก็บตัวอย่างได้จำนวนมากขึ้นและพัฒนาต้นแบบออกมาได้อย่างรวดเร็ว” 
สำหรับเทคโนโลยีที่ใช้ในการพัฒนาฯ  นักวิจัย กล่าวว่า เป็นการนำเทคโนโลยีที่เรียกว่าจมูกอิเล็กทรอนิกส์ หรือก๊าซเซ็นเซอร์ มาตรวจวัดสารระเหยอินทรีย์ หรือกลิ่นที่เป็นสารไบโอมาร์กเกอร์จากลมหายใจ ซึ่งทีมวิจัยมีฐานข้อมูลที่
สามารถจดจำและจำแนกกลิ่นที่แตกต่าง ระหว่างคนที่ติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อได้ นอกจากนี้ยังมีการนำระบบแมชชีนเลิร์นนิ่ง และปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ  เข้ามาใช้ในการประมวลผลทำให้สามารถวิเคราะห์และตรวจคัดกรองได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ปัจจุบันมีความแม่นยำประมาณ 97 %  จากฐานข้อมูลของทีมวิจัยที่มีอยู่ประมาณ 3 พันตัวอย่าง  
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยได้มีการเก็บตัวอย่างการคัดกรองโควิด-19 จากผู้เข้าชมงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565  ซึ่งเป็นการนำต้นแบบนวัตกรรมออกมาทดสอบใช้งานกับกิจกรรมภายนอกโรงพยาบาลเป็นครั้งแรก   และจะมีการนำเอาข้อมูลกลับไปปรับปรุงนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น    
 นวัตกรรมนี้ ได้ขอจดสิทธิบัตรแล้ว 12 ประเทศใน 6 ทวีป และอยู่ระหว่างการดำเนินการส่งตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่มีคุณภาพ รวมถึงมีแผนในการขอขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรม บัญชีสิ่งประดิษฐ์ และการทำมาตรฐานต่าง ๆ  ให้เป็นที่ยอมรับ คาดว่า จะสามารถผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ภายในสิ้นปีนี้  และอนาคตจะสามารถประยุกต์ใช้งานเครื่องดังกล่าวกับการตรวจคัดกรองโรคอื่น ๆ ที่ใช้ลมหายใจเป็นตัวบ่งชี้หรือบ่งบอกสภาวะผิดปกติได้
งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดถึง 5 สิงหาคม 2565 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ สามารถลงทะเบียนเข้าชมงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th แบบ Online ภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02 579 1370-9 ต่อ 515, 517, 518, 519 และ 524 ติดตามข้อมูลข่าวสารการจัดงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th  fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

วช. จับมือ จ.เพชรบุรี และเครือข่ายวิจัยภูมิภาค วิจัยพัฒนาพื้นที่ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนต้นแบบ

วันที่ 3 สิงหาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ จังหวัดเพชรบุรี และหน่วยงาน : เครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคกลาง ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้ประโยชน์จากการวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี เพื่อขับเคลื่อนงานฝวิจัยให้มีการนำไปใช้แก้ปัญหาในชุมชน เผยแพร่องค์ความรู้เพื่อ
ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ในเชิงพัฒนาพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ณ เวที Highlight Stage ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565” ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นผลจากการขยายผลองค์ความรู้สู่จังหวัดเพชรบุรีในพื้นที่ ต.คลองกระแชง อ.เมือง และ ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน ผ่านการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชน โดยมีเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคกลาง ซึ่ง วช. ได้สนับสนุนให้เป็นกลไกขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจท้องที่
 เศรษฐกิจชุมชนต้นแบบ เศรษฐกิจท้องถิ่น ตามนโยบายกระทรวง อว. วช. มีความพร้อมในการสนับสนุนองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมุ่งหวังให้เกิดการขยายผล การผลักดันให้งานวิจัยและพัฒนาเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และสามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหา การพัฒนา การยกระดับคุณภาพชีวิต ระดับพื้นที่ชุมชน สังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจังหวัดเพชรบุรี มีบทบาทสำคัญในความร่วมมือ
 ขับเคลื่อนให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยไปสู่การพัฒนาในเชิงพื้นที่ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่เพื่อการพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี และเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคกลาง ที่ทำหน้าที่ในการประสานเชื่อมโยงเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยให้มีการนำไปใช้แก้ปัญหา
ในชุมชน เผยแพร่องค์ความรู้และการใช้เทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า จังหวัดเพชรบุรี ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. 
ในโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีในการจัดการขยะชุมชนโดยใช้ระบบก๊าซชีวภาพและเตาเผาขยะลดมลพิษ เนื่องจากพื้นที่อำเภอแก่งกระจาน เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการจัดการขยะเป็นระยะเวลานานและเป็นพื้นที่ที่จังหวัดต้องการเข้าไปดูแลเพื่อแก้ปัญหามลพิษ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรให้ดีขึ้น อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคกลาง ของ วช. ที่เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการและให้การสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชนในจังหวัดเพชรบุรีจำนวน 2 ศูนย์ เพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่ชุมชนและขยายผลให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ศูนย์ที่ 1 คือ ศูนย์วิจัยชุมชนเมืองเพชรบุรี ที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี เพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตและวัฒนธรรมบริเวณย่านเมืองเก่า และฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในชุมชน ศูนย์ที่ 2 คือ ศูนย์วิจัยชุมชนเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ ตำบลป่าเด็ง จังหวัดเพชรบุรี
 ซึ่งเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้การจัดการขยะ การจัดการพลังงานหมุนเวียน และการทำการเกษตรตามมาตรฐาน PGS ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ที่มีความประสงค์ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์และเพิ่มมูลค่าของภูมิปัญญาดั้งเดิมในชุมชน ทั้งด้านวัฒนธรรมวิถีความเป็นอยู่ตลอดจนด้านเทคโนโลยี นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น 
รองศาสตราจารย์ ดร.คณพล จุฑามณี ประธานเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคกลาง กล่าวว่า เครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคกลาง ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภูมิภาคให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยได้จัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชนผ่านการขับเคลื่อนของเครือข่ายวิจัยภูมิภาคทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ซึ่งที่ผ่านมาเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคกลาง มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชน เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยให้มีการนำไปใช้แก้ปัญหาในชุมชน เผยแพร่องค์ความรู้รวมถึงการใช้เทคโนโลยี 
เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2565 เครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคกลาง ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของศูนย์วิจัยชุมชนเมืองเพชรบุรีและศูนย์วิจัยชุมชนเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ ตำบลป่าเด็ง จังหวัดเพชรบุรี ในการเผยแพร่องค์ความรู้ภายในชุมชน จึงร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้ประโยชน์จากการวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี ระหว่าง วช. กับ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อนำองค์ความรู้จากการวิจัย ผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี

สำหรับประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Reseach Expo 2022)” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2565 ณ ชั้น 22 – 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานและติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th, Facebook Fanpage: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 0 2579 1370 – 9 ต่อ 515, 517, 518, 519 และ 524

วช.หนุนนวัตกรรม หนุ่มพิการใช้ปากวาดภาพจุดประกายพลังแห่งปัญญาและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ พร้อมนำเสนอผลงานในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565

       สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้จุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้พิการไม่รู้สึกย่อท้อกับชะตาชีวิต ให้การสนับสนุนนวัตกรรมผลงานวาดภาพด้วยปาก จากผลงานพลังแห่งปัญญา สู่พลังแห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ ของนายพรหมพัฒน์  โชติสิรดานันท์ ( โซคูล )หนุ่มนักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาศิลปะและการออกแบบ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
แม้จะเป็นผู้พิการทางร่างกายแขนขา แต่หัวใจเปี่ยมล้นไปด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างผลงานการวาดภาพ สร้างแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชนและผู้พิการ ที่ต้องค้นหาตัวเองให้เจอ มองข้ามอุปสรรคสู่เป้าหมายสูงสุดของชีวิต และได้มีการนำผลงานของโซคูล มาโชว์ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ระหว่างวันที่ 1 - 5 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
      ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ร่วมกับเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ได้นำผลงานวิจัยกว่า 500 ผลงานมาแสดงในมหกรรมงานวิจัยแห่ง 2565 ซึ่งล้วนแต่เป็นนวัตกรรมผลงานการวิจัยที่โดดเด่น สามารถนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตประจำวัน รวมถึงเป็นต้นแบบในการพัฒนาศักยภาพทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนั้นคือนวัตกรรมผลงานภาพวาดอย่างวิจิตรบรรจง ของหนุ่มพิการโซคูล ภายใต้ผลงานพลังแห่งปัญญา สู่พลังแห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ หวังสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนและคนพิการในงานศิลปะวิจิตรศิลป์ รวมทั้งความสามารถด้านอื่นๆของผู้พิการ ที่สามารถแสดงศักยภาพให้สังคมได้เห็นว่าผุ้พิการไม่ได้สร้างภาะระให้กับสังคม และสามารถทำคุณประโยชน์ได้อีกมากมาย ทั้งเพื่อเลี้ยงชีพให้กับตัวเอง และสร้างชื่อสร้างให้กับประเทศชาติ
       นายพรหมพัฒน์  โชติสิรดานันท์  หรือ ที่รู้จักกันดีว่าน้องโซคูล  ได้เล่าเรื่องราวของชีวิตให้ฟังว่า  ตัวเองเป็นผู้พิการแขน ขา มาแต่กำเนิด โดยได้รับความรักความอบอุ่นเลี้ยงดูมาอย่างดีมาจากครอบครัว ทำให้ความพิการไม่เป็นอุปสรรคในการต่อสู้กับชีวิต ในวัยเรียนระดับประถมและมัธยม ก็ได้เข้าเรียนตามปกติเหมือนคนทั่วไปเพียงแต่ต้องใช้ปากเขียนหนังสือแทนการใช้มือที่พิการ โซคูลย้ำว่าเค้าเป็นเพียงผู้พิการทางร่างกายไม่ได้พิการทางสมอง ด้วยการมีใจรักด้านการวาดภาพตั้งแต่เด็กเลยมุ่งมั่นพัฒนาฝีมือตัวเองเรื่อยมาร่วมกับพรสวรรค์ที่ตัวเองมีอยู่ 
แม้จะมีความสามารถในการร้องเพลง แต่โซคูลเลือกที่จะวาดรูป เพราะคิดว่าสามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเอง ซึ่งผู้ที่นำรูปมาให้วาดหรือการวาดภาพเหมือนไม่ได้ตั้งราคาตายตัวแล้วแต่ผู้ว่าจ้างให้โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาทีต่อภาพ เมื่อปีที่แล้ว ( 2564 ) โซคูลได้รับการพิจารณาคัดเลือกประกาศเกียรติคุณเยาวชนดีเด่นแห่งชาติต้นกล้าคุณธรรม สาขาผู้สร้างแรงบันดาลใจเนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2564 ปัจจุบันโซคูลกำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก ภาควิชาศิลปะและการออกแบบ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
         แนวคิดของโซคูล สามารถสร้างแรงบันดาลใจจุดประกายความคิดให้กับผู้พิการโดยทั่วไป เค้ามองว่าผู้พิการมีสิทธิเสรีภาพเหมือนคนทั่วไป ต้องกล้าที่จะแสดงออกและหาจุดยืนให้กับตัวเอง จุดเริ่มต้นอาจไม่จำเป็นต้องวาดเป็นแต่ต้องอาศัยทั้งพรแสวงและพรสวรรค์ที่ตัวเองมีอยู่ประกอบกัน กำหนดตัวตนของฉัน อนาคตที่ฉันอยากจะเป็น ผ่านการเล่าเรื่องราวของตัวเอง ขณะที่ทาง รศ.อุดม ฉิมภักดี อาจารย์ภาควิชาศิลปะและการออกแบบ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
กล่าวว่าในอนาคตจะมีการขยายผลต่อยอดโครงการพลังแห่งปัญญา สู่พลังแห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ ไปสู่เด็กและเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนคนพิการในจังหวัดเชียงใหม่ 6 แห่ง จังหวัดเชียงราย 1 แห่ง และจังหวัดน่านอีก 1 แห่งเพื่อจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเค้าเหล่าได้แสดงความสามารถด้านงานศิลปะวาดภาพ เพื่อหวังเป็นทางเลือดกหนึ่งในการเสริมคุณภาพชีวิตในอนาคต
งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดถึง 5 สิงหาคม 2565 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ สามารถลงทะเบียนเข้าชมงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th แบบ Online ภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02 579 1370-9 ต่อ 515, 517, 518, 519 และ 524 ติดตามข้อมูลข่าวสารการจัดงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th  fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

Tuesday, August 2, 2022

กฟผ.ใช้เทคโนโลยีโครงข่ายประสาทเทียมพัฒนา “ระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน”

 
ชี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยวางแผนการผลิตไฟฟ้าทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ  พร้อมนำเสนอในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 1-5 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์   ดีอ่อง  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานจากลม น้ำ แสงอาทิตย์และชีวมวลต่าง ๆ  ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อมีพลังงานหมุนเวียนอยู่ในระบบไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก มักจะเกิดปัญหาความไม่แน่นอนของกำลังการผลิตที่มีความผันผวนสูง 
ตามสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำเป็นต้องมี ระบบการบริหารจัดการที่ดีและมีการคาดการณ์ปริมาณการผลิตไฟฟ้าได้อย่างแม่นยำ  ซึ่งการไฟฟ้าผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีการพัฒนา “ ระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน”  
ที่สามารถนำไปใช้วางแผนการผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าหลักให้แผนการผลิตไฟฟ้ามีความสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชน  และได้นำผลงานดังกล่าวมาจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 หรือ  Thailand Research Expo 2022  ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565
     นางสมฤดี ทิพย์มาบุตร หัวหน้ากองจัดการเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าและการใช้ไฟฟ้ารูปแบบใหม่ การไฟฟ้าผลิตแห่งประเทศไทย หัวหน้าทีมวิจัย “ระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (RE Forecast) ” เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานจึงได้มอบหมาย กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการผลิตไฟฟ้าและควบคุมระบบส่งไฟฟ้าของประเทศไทยดำเนินการศึกษาแบบจำลองระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน
หมุนเวียน พ.ศ. 2562-2564  เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการคาดการณ์ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าและนำมาจัดทำรูปแบบการพยากรณ์ที่มีความเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทยมากที่สุด  
ซึ่งต่อมา กฟผ.ได้พัฒนาเป็น “ระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน”  
โดยอาศัยหลักการของ Artificial Neural Network (ANN) หรือโครงข่ายประสาทเทียม ซึ่งเป็นการจำลองการเรียนรู้เช่นเดียวกับระบบประสาทของมนุษย์ด้วยการนำข้อมูลในอดีตได้แก่ ข้อมูลสภาพอากาศและข้อมูลการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า ระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี มาสร้างแบบจำลองโครงข่ายประสาทเทียม
 โดยข้อมูลที่ใช้สำหรับการสร้างแบบจำลองพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จะประกอบด้วย ค่าความเข้มแสงอาทิตย์ ค่าอุณหภูมิแวดล้อม ค่าความชื้นสัมพัทธ์ ค่าความเร็วลม และค่ากำลังผลิตไฟฟ้า ส่วนข้อมูลที่ใช้สำหรับการสร้างแบบจำลองพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานลม ประกอบด้วย ค่าความเร็วลม ค่าอุณหภูมิแวดล้อม ค่าความชื้นสัมพัทธ์ ค่าความกดอากาศ และค่ากำลังผลิตไฟฟ้า 
ทั้งนี้หลังจากได้แบบจำลองพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าฯ แล้ว  ผู้พัฒนาได้นำค่าคลาดเคลื่อนของการพยากรณ์มาวิเคราะห์ ประมวลผล ทำให้ปัจจุบันสามารถพยากรณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์  ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ที่มีกำลังการผลิตตามสัญญามากกว่า 10 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ จำนวนทั้งสิ้น 29 แห่ง กำลังผลิตรวมกัน 1,856 เมกะวัตต์ที่เชื่อมต่อกับระบบของ กฟผ.ได้อย่างแม่นยำ
     สำหรับการพยากรณ์ของระบบมี 2 รูปแบบคือ  การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าระยะสั้น (Short-term Forecast)   ซึ่งพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์วันละ 1 ครั้งล่วงหน้าได้ในระยะเวลา 10 วัน  มีความละเอียด 10 นาที ซึ่งเพื่อการวางแผนการผลิตไฟฟ้าระยะสั้น-กลาง และ 2.การพยากรณ์ภายในวัน (Intraday Forecast) เป็นการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ทุกๆ  1 ชั่วโมง ล่วงหน้าได้  6 ชั่วโมง มีความละเอียด 30 นาที เพื่อใช้สำหรับ System Operator ในการผลิตไฟฟ้าแบบเรียลไทม์
     นางสมฤดี กล่าวว่า   ผลจากการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าที่ได้ จะเป็นข้อมูลสำหรับผู้ปฏิบัติการระบบไฟฟ้าในการวางแผนการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ  การใช้ระบบกักเก็บพลังงาน  และกระบวนการตอบสนองด้านโหลด เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวน และความไม่แน่นอนในการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ 
     ระบบพยากรณ์ฯ ดังกล่าว จึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ กฟผ. ใช้ในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ  ทำให้การวางแผนการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในระบบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  สามารถลดปริมาณกำลังนสำรองที่จำเป็นสำหรับรองรับความผันผวนจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้รับจากระบบนี้  จะสะท้อนไปที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ลดลง 
อย่างไรก็ดี กฟผ. มีแผนติดตั้งระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอีก 17 แห่งในเขตปฏิบัติการและสถานีไฟฟ้าแรงสูงทั่วประเทศภายในปี พ.ศ. 2566 เพื่อรองรับการเติบโตของแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ  และสนับสนุนงานของศูนย์ควบคุมระบบกําลังไฟฟ้าในเขตปฏิบัติการ ให้สามารถวางแผนควบคุมการจ่ายไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการขยายศักยภาพการพยากรณ์ไปยังโรงไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ   
งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดถึง 5 สิงหาคม 2565 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ สามารถลงทะเบียนเข้าชมงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th แบบ Online ภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02 579 1370-9 ต่อ 515, 517, 518, 519 และ 524 ติดตามข้อมูลข่าวสารการจัดงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th  fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ม.รังสิตโชว์นวัตกรรมไข่เทียมจากพืช ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565

ม.รังสิตโชว์นวัตกรรมไข่ผงจากพืชไร้สารก่อภูมิแพ้ ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ  2565  พร้อมต่อยอดเป็นไข่ต้มแบบ ready to eat เก็บอุณหภูมิห้องได้นาน1ปี
ดร.วิภารัตน์   ดีอ่อง  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับผู้บริโภคที่หันมาสนใจบริโภคอาหารที่มาจากพืชเป็นจำนวนมากขึ้น  ทั้งตลาดผู้รักสุขภาพ และตลาดผู้บริโภคมังสวิรัติหรือวีแกนที่กำลังเติบโต การผลิตอาหารที่มีความปลอดภัยและมีงานวิจัยรองรับอย่าง “นวัตกรรมไข่เทียมจากพืชเสริมโปรตีนข้าวไฮโดรไลเสท” จากศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อผู้ประกอบการ  คณะเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต จึงตอบโจทย์ด้านอาหารแห่งอนาคต 
ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลพลอยได้จากการแปรรูปข้าวของไทย
รศ.ยุพกนิษฐ์  พ่วงวีระกุล   ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อผู้ประกอบการ  คณะเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต หัวหน้าทีมพัฒนา  ฯ  เปิดเผยว่า  ตลาดผลิตภัณฑ์ไข่จากพืช หรือไข่วีแกนของโลก ในปี พ.ศ. 2570 จะมีมูลค่า 1.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเติบโต 6.2% ต่อปี และสูงถึง 140 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2572 (Franck, 2019)  
 ปัจจุบัน ไข่จากพืชทั้งหมดเป็นสินค้าที่มีการผลิตและจำหน่ายในต่างประเทศ  ใน  2 ลักษณะ คือของเหลวที่มีข้อจำกัดด้านอายุการเก็บที่สั้นและต้องเก็บรักษาในลักษณะแช่เย็นหรือแช่แข็ง  และผลิตภัณฑ์ในรูปผงที่เก็บรักษาง่ายและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าถึงหนึ่งปี  ไข่จากพืชในรูปแบบนี้จะเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนตลาดให้เติบโตอย่างมากและเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตรายใหม่
ทีมวิจัยซึ่งมี รศ.ยุพกนิษฐ์  พ่วงวีระกุล    และ อาจารย์สุวิมล สร้อยทองสุข เป็นนักวิจัยหลัก จึงเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ไข่ผงวีแกนจากผลพลอยได้จากการแปรรูปข้าวขึ้น 
  โดยได้รับทุนอุดหนุนจากโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก เครือข่ายวิจัยอุดมศึกษาภาคกลางตอนบน สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 
ไข่ผงจากพืชที่พัฒนาขึ้นนี้ มีวัตถุดิบมาจากข้าวไทย และผลพลอยได้จากการแปรรูปข้าว ซึ่งนำมาผ่านกระบวนการเฉพาะ เพื่อใช้ในการผลิตไข่เทียม   ซึ่งไม่มีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และได้ตัดวัตถุเจือปนอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายออกไป 
ทั้งจากผลการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีโภชนาการ พบว่าไข่ผงจากพืชที่พัฒนาขึ้น เมื่อเทียบกับไข่จริงพบว่าไม่มีความแตกต่างของปริมาณโปรตีนและแร่ธาตุ มีโภชนาการเท่าไข่จริง   มีโภชนาการเท่าไข่จริง       ไร้กลิ่นคาว มีสีและรสชาติอ่อน สามารถนำไปทดแทนไข่จริงได้ทุกเมนูคาวหวาน และยังพบว่าปริมาณไขมันในไข่วีแกนต่ำกว่า 14 เท่า ปริมาณเส้นใยสูงกว่า 4 เท่า และมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตมากกว่า 18 เท่า    
 จากการที่ไข่จากพืชหรือไข่วีแกนมีแคลอรีน้อยกว่าไข่จริง ช่วยบ่งชี้ว่าการบริโภคอาจมีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคควบคุมน้ำหนักได้ นอกจากนี้ยังพบว่าไข่วีแกนมีปริมาณสารทั้ง 5 ชนิดอยู่ในระดับสูงสุด ได้แก่ สารประกอบฟีนอลิก, สารต้านอนุมูลอิสระ, สารยับยั้ง ACE, สารDSL และสารGABA   
 ทั้งนี้ไข่เทียมจากพืชที่ผลิตขึ้น ได้รับการขึ้นทะเบียน อย. แล้ว และมีการขยายผลไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย  ปัจจุบันทีมวิจัยได้มีการต่อยอดเป็นไข่ต้มจากพืชไร้สารก่อภูมิแพ้  แบบ  ready to eat ที่เก็บอุณหภูมิห้องได้นาน1ปี 
ยืนยันความเป็นนวัตกรรมที่โดดเด่นด้วย  รางวัลชนะเลิศเหรียญทองนานาชาติ  Life Science WSEEC 2022  ที่จาร์การ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย  รางวัล IYSA SEMI GRAND AWARD2022  รางวัล IYSA GRAND PRIZE AWARD  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นวัตกรรมแห่งประเทศไทยปี 2564 และรางวัลชนะเลิศFi Asiaปี2564
นวัตกรรมชิ้นนี้  ไม่เพียงเป็นอาหารจากพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ไร้สารก่อภูมิแพ้เท่านั้น แต่ยัง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลพลอยได้จากผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
ผู้สนใจ สามารถชมนวัตกรรมไข่จากพืชเสริมโปรตีนข้าวไฮโดรไลเสท นี้ได้ที่งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่1-5 สิงหาคมนี้  ลงทะเบียนเข้าชมงานแบบ Online ได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th

วช. จับมือ สวทช. และมหาวิทยาลัยเครือข่าย ส่งเสริมเยาวชนขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565”

วันที่ 2 สิงหาคม 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเครือข่าย 10 แห่งทั่วประเทศ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมเด็กและเยาวชน ผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นประธานการลงนาม ณ เวที Highlight Stage ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565” ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา และเยาวชน ซึ่งจะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต ตลอดหลายปีที่ผ่านมา วช. ได้ทำหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณและจัดทำสัญญารับทุนกับ สวทช. และมหาวิทยาลัยในเครือข่ายตามความร่วมมือทั้ง 10 แห่งในทุกภูมิภาค ภายใต้แผนงาน
 “แผนพัฒนานักประดิษฐ์และนักวิจัยรุ่นใหม่” ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition : YSC) ซึ่งเป็นการสนับสนุนเยาวชนในระดับมัธยมศึกษา ให้มีโอกาสแสดงความสามารถและทักษะที่เป็นนวัตกรรมและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทางด้านโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับประเทศ และ 2. โครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest : NSC) 
เป็นการพัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้แก่เยาวชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย สร้างนักเขียนโปรแกรมที่มีทักษะและความสามารถสูงให้กับวงการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งการจัดกิจกรรมการประกวดแข่งขันดังกล่าว เป็นการเสริมสร้างประสบการณ์และฝึกทักษะวิจัยในห้องปฏิบัติการ เพื่อต่อยอดผลงานสู่เวทีในระดับนานาชาติ และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนก้าวสู่เส้นทางอาชีพนักวิจัย วิศวกรวิจัย หรือ นวัตกรในอนาคตต่อไป
ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า สวทช. ได้ร่วมกับ วช. ในฐานะผู้สนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งมีความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา โดยกิจกรรมในวันนี้มีกลุ่มเป้าหมาย คือ เด็กและเยาวชนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 
ซึ่ง สวทช. ได้รับการสนับสนุนงาบประมาณจาก วช. จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition : YSC) และ 2. โครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest : NSC) โดยกิจกรรมการประกวดแข่งขันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งเวที YSC และ NSC นอกจากเป็นความร่วมมือของ สวทช. กับ วช. แล้ว
 ยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายอีก 10 แห่ง ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานภูมิภาค ทำให้เกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง ที่ช่วยพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเยาวชนจากทั่วประเทศมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ วช. ยังให้ทุนสนับสนุนโครงการรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ ครูวิทยาศาสตร์ฝึกทักษะวิจัย ณ ห้องปฏิบัติการวิจัยของศูนย์วิจัยแห่งชาติ สวทช. ภาคฤดูร้อน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและครูวิทยาศาสตร์ ได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะการวิจัยในห้องปฏิบัติการวิจัยของศูนย์วิจัยแห่งชาติ สวทช. ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เยาวชนได้ค้นพบตนเอง สร้างแรงบันดาลใจ และเห็นเส้นทางอาชีพนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ช่วยในการตัดสินใจเลือกสาขาวิชาที่จะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับตนเองในอนาคตต่อไป
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมเด็กและเยาวชน ผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในครั้งนี้ นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยเครือข่าย 10 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อร่วมกันพัฒนาบุคลากรวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และนวัตกร ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมในอนาคต

สำหรับประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Reseach Expo 2022)” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2565 ณ ชั้น 22 - 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานและติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th, Facebook Fanpage: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 0 2579 1370 – 9 ต่อ 515, 517, 518, 519 และ 524