Showing posts with label #วช.. Show all posts
Showing posts with label #วช.. Show all posts

Friday, July 8, 2022

วช. ร่วมงาน Smart SME Expo 2022นำงานวิจัยขายได้ ร่วมโชว์ชูแนวคิด “วิจัยไทย ขายได้จริง”

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชูแนวคิด “วิจัยไทย ขายได้จริง” นำผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย เข้าร่วมแสดงในงาน Smart  SME Expo 2022  หวังใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสหกรรมอาหารและ
อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยนำสินค้าและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มาร่วมจัดแสดง งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 10 กรกฎาคม 2565 ณ Hall 7 – 8 Impact   เมืองทองธานี
ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่ในการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่หน่วยงานต่าง ๆ  ซึ่งวช.จะสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นสำคัญ
 ด้านการวิจัยเชิงรุกโดยผลการวิจัยจะต้องมีเป้าหมายของผลผลิตและใช้ประโยชน์ได้จริง และเกิดเป็นผลลัพธ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ  จากผลสำเร็จของการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา  วช. จึงได้นำผลงานการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนเข้าร่วมแสดง
นิทรรศการในงาน Smart  SME Expo 2022  รูปแบบการจัดงานจะเป็นบูธศูนย์บริการให้คำปรึกษาด้านการวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด (theme) 
“วิจัยไทย ขายได้จริง” โดยมีทีมงานศูนย์ประสาน “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House” ฝ่ายอุตสาหกรรม วช. มาเป็นผู้ให้ข้อมูลและคำปรึกษาแก่ผู้สนใจและผู้ประกอบการ เพื่อมุ่งหวังที่จะผลักดันให้เกิด outcome โดยการจัดการจาก know how, technology, process จนได้มาเป็นตัว product และจาก product สู่ผู้บริโภค โดยใช้เครื่องมือด้านการวิจัยสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการนำสินค้าและผลิตภัณฑ์
นวัตกรรมในโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House มาร่วมจัดแสดงในบูธ Innovative House วช. ทั้งส่วนของ Future Food อาหารเพื่อสุขภาพ
 สารสกัดจากวัตถุทางธรรมชาติ อาหารทางการแพทย์ รวมถึงอาหารเสริม และอาหารควบคุมน้ำหนัก ซึ่งถือว่าเป็นเทรนด์อาหารยุคใหม่ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่บริโภคได้ ผ่านการวิจัยและนวัตกรรมของ วช.  งานนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 10 กรกฎาคม 2565 ณ  Hall 7 – 8 Impact   เมืองทองธานี

Tuesday, July 5, 2022

วช. ดัน ผลงานวิจัย “กากน้ำตาล” วัตถุดิบเหลือใช้จากการเกษตร ยกระดับ อุตสาหกรรมทางเคมีชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน อย่างยั่งยืน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมสนับสนุนทุนวิจัย แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.เขมวิทย์ จันต๊ะมา และคณะ แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จากผลงานโครงการวิจัย เรื่อง “การใช้ประโยชน์จากกากน้ำตาลที่เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศไทยเพื่อการผลิต 2,3-บิวเทนไดออล (2,3-BD)” เพื่อการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบกากน้ำตาลที่เหลือใช้จากภาคการเกษตร ยกระดับผลิตภัณฑ์และต่อยอดทางธุรกิจเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมทางเคมีชีวภาพในการคิดค้นและพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  กล่าวว่า วช. ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมในการคิดค้น พัฒนา เพื่อสร้างพื้นฐานองค์ความรู้ ในการต่อยอดและพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมทางเคมีชีวภาพ โดยการนำวัตถุดิบที่เหลือใช้จากภาคการเกษตร กากน้ำตาล สู่การยกระดับผลิตภัณฑ์ของไทย ลดการนำเข้า 2,3-บิวเทนไดออลที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ ด้วยผลงานวิจัยจากการศึกษาการผลิต 2,3-บิวเทนไดออล เพื่อจัดการกับปัญหาท้าทายเร่งด่วนสำคัญของประเทศในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเกษตร เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งการวิจัยและพัฒนากระบวนการดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถ และความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีให้กับประเทศไทย สู่การต่อยอดทางธุรกิจ เพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมทางชีวภาพ ชุมชนเข้มแข็ง และพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างฐานรากของการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้อย่างยั่งยืน
รองศาสตราจารย์ ดร.เขมวิทย์ จันต๊ะมา หัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า จากการศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ 2,3-บิวเทนไดออล  เป็นสารเคมีสำคัญที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมเคมีเพื่อใช้เป็นตัวทำละลาย ตัวประสาน สีทาบ้าน สีทารถยนต์ เม็ดพลาสติก สารเติมแต่งที่ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร และยา รวมถึงสารเคมีอื่น ๆ ที่ใช้ในครัวเรือนเพื่อการอุปโภค และบริโภค หรือแม้กระทั่งผสมในสารพอลิเมอร์พลาสติกให้มีความแข็งแรงมากขึ้น อีกทั้งในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ 2,3-บิวเทนไดออล ยังถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยาน (bio-jet fuel) อีกด้วย กากน้ำตาล (sugarcane molasses) เป็นผลพลอยได้ในอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลทราย 
โดยการผลิตน้ำตาลทราย 1 ตัน จะใช้น้ำอ้อยดิบ 10 ตัน และเกิดผลพลอยได้ของกากน้ำตาล ประมาณ 50 กิโลกรัม กากน้ำตาลมีองค์ประกอบของน้ำตาลรวมประมาณ 50% (น้ำหนักต่อปริมาตร) โดยที่จะเป็นซูโครสประมาณ 13% (w/v) (น้ำหนักต่อปริมาตร)  และกลูโคสรวมกับฟรุคโตสประมาณ 15% (น้ำหนักต่อปริมาตร) ดังนั้น​ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล กากน้ำตาลที่เป็นของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลที่เกือบไม่มีมูลค่าควรจะถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด​ เช่น​ นำมาผลิต 2,3-บิวเทนไดออล จาก K. oxytoca KMS005 (Jantama et al., 2015) ที่พัฒนาขึ้นเองด้วยเทคนิควิศวกรรมเมทาบอลิกของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งจะเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากกากน้ำตาลไปเป็น 2,3-บิวเทนไดออล (มูลค่าในตลาดโลกที่ $US9.12-250/kg ขึ้นกับความบริสุทธิ์) ที่มีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่กว้างขวางกว่า เอทานอลที่ถูกผลิตขึ้นจากกากน้ำตาลด้วยยีสต์ในปัจจุบัน ดังนั้น​ การผลิต 2,3-บิวเทนไดออล จากกระบวนการหมักโดยใช้เชื้อ K. oxytoca KMS005 ด้วยกากน้ำตาลอ้อย 
น่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่ธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำตาลให้เพิ่มเติม และยังนำไปสู่การพัฒนากลุ่มธุรกิจ New S-curve ของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ ตามนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 กระบวนการดังกล่าวนำไปสู่การลดของเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลซูโครส กลูโคส และฟรุคโต และเป็นการลดการนำเข้า 2,3-บิวเทนไดออลที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และยังสามารถส่งขายต่างประเทศ ทำให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดทางธุรกิจของอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพที่ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของประเทศไทย

ทั้งนี้​ เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโครงการวิจัยดังกล่าวจะช่วยยกระดับและตอบโจทย์การเข้ามามีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรมให้เพิ่มขึ้น เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน ยกระดับอุตสาหกรรมทางเคมีชีวภาพ สร้างแนวทางต้นแบบการใช้พลังงานชีวภาพ พลังงานแบบหมุนเวียน รวมถึงตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมให้สำเร็จ เป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

Monday, July 4, 2022

วช. นำคณะนักประดิษฐ์/นักวิจัยไทย คว้ารางวัลการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติในงาน “E-NNOVATE 2022

ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ได้นำคณะนักประดิษฐ์/นักวิจัยไทยจาก 4 หน่วยงาน เข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ
ในงาน “E-NNOVATE 2022 Edition: International Innovation Show” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 10 มิถุนายน 2565 ณ สาธารณรัฐโปแลนด์ ในรูปแบบออนไซต์ และระหว่างวันที่ 15 – 16 มิถุนายน 2565 ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดย Innovative Business Solutions (IBS) หน่วยงานเอกชนด้านการส่งเสริมนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ แห่งสาธารณรัฐโปแลนด์ โดยมีนักวิจัย/นักประดิษฐ์จากประเทศต่างๆ นำผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในงานจำนวน 145 ผลงาน จาก 15 ประเทศ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่นักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัลต่างๆ ประกอบด้วย รางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) จำนวน 4 รางวัล รางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) จำนวน 2 รางวัล และรางวัลพิเศษ (Special Award) ซึ่งเป็นการได้รับสิทธิ์ในการยกเว้นค่าธรรมเนียมการลงเบียนผลงานสำหรับการนำเสนอผลงานในเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ จำนวน 2 รางวัล ดังนี้
รางวัลเหรียญทอง จำนวน 4 ผลงาน ดังนี้
1. ผลงาน นวัตกรรมเครื่องปลุกเตือนทานยาสำหรับผู้สูงอายุโรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart Medi Box Alert Innovation for the elderly with cardiovascular disease)
Heart Medi Box Alert เป็นกล่องยาสำหรับผู้สูงอายุโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่ช่วยในการปลุกเตือนการรับประทานยา และสามารถแจ้งเตือนแก่ผู้ดูแล และบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะฉุกเฉิน เช่น มีอาการเจ็บแน่นอก ที่อาจนำไปสู่การเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและการเสียชีวิตตามมา นวัตกรรมนี้พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมการจัดการตนเองในผู้สูงอายุ ให้มีการรับประทานยาต่อเนื่อง ตรงเวลา ครบถ้วน ตามแผนการรักษา และได้รับการช่วยเหลือได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน รวมถึงการบันทึกข้อมูลการรับประทานยาโดยอัตโนมัติบน cloud เป็นข้อมูลให้กับบุคลากรทางการแพทย์สามารถใช้ในการวางแผนดูแลผู้ป่วยต่อไป
โดย  อาจารย์ดุษฎี ก้อนอาทร และคณะ  จากคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยเชียงราย
พร้อมได้รับรางวัลพิเศษ (Special Award) ในการยกเว้นค่าธรรมเนียมการลงทะเบียนผลงานสำหรับการนำเสนอในเวที “2022 Smart Expo, The 2nd Youth Patent Incubation Exhibition” ณ เขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
2. ผลงาน นวัตกรรมเครื่องควบคุมสารน้ำสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว (The volume control innovation for patients with congestive heart failure)
           
 นวัตกรรมเครื่องควบคุมสารน้ำสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว เพื่อช่วยส่งเสริมการจำกัดน้ำดื่ม และป้องกันการเกิดภาวะน้ำเกิน นวัตกรรมสามารถคำนวณปริมาณน้ำดื่มต่อวันที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล มีเทคโนโลยีเซนเซอร์วัดปริมาณสารน้ำเข้า-ออกร่างกาย มี Web Application สำหรับผู้ใช้งานในการติดตามสถานะสารน้ำเข้า-ออกร่างกายของตนเองแบบ real-time มีการแจ้งเตือนเมื่อดื่มน้ำใกล้ถึงปริมาณที่กำหนด สามารถประเมินอาการเตือนของภาวะน้ำเกิน และนวัตกรรมช่วยประเมินระดับความรุนแรงของภาวะน้ำเกิน พร้อมทั้งมีคำแนะนำให้แบบอัติโนมัติ มี Web Application ที่บุคลากรการแพทย์สามารถดูข้อมูล การควบคุมสารน้ำ อาการเตือนภาวะน้ำเกิน เพื่อใช้ในการวางแผนดูแล และสามารถโต้ตอบกับผู้ป่วยได้แบบ real-time
โดย  ผู้ช่วยศาสตราจารย์รัญชนา หน่อคำ และคณะ จากคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยเชียงราย
3. ผลงานการผลิตภาษามือเพื่อส่งเสริมรายการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ทางโทรทัศน์สำหรับผู้พิการทางการได้ยิน (Sign Language Production to Promote Historical Tourism Television Program for Deaf)

ผลผลิตจากการสร้างสรรค์สื่อรายการท่องเที่ยวทางโทรทัศน์กับการนำเสนอภาษามือทางโทรทัศน์ในรูปแบบของขนาดช่องทางในการนำเสนอภาษามือที่มีขนาดประมาณ 30-40% เพื่อให้เอื้อต่อการมองเห็นของคนหูหนวกและการสื่อสารของภาษามือที่มีความชัดเจน ไม่ทำให้เนื้อหาในสื่อหลักมีความสำคัญน้อยลง เป็นต้นแบบในการนำเสนอของรายการโทรทัศน์ให้กับคนหูหนวก
โดย  นางสาวกุลภัสสร์ กาญจนภรางกูร และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ สอนเขียว
คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
4. ผลงาน ผลิตภัณฑ์เยลลี่ไร้น้ำตาลจากสารสกัดเปลือกมังคุดที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งแบคทีเรีย S.mutansซึ่งเป็นสาเหตุของฟันผุ (Gummies from mangosteen peel extract to inhibit Streptococcus mutans. bacteria which causes tooth decay)
           
ฟันผุเป็นหนึ่งในปัญหาโรคทางช่องปากที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆของไทย ซึ่งมีสาเหตุมาจากแบคทีเรีย S.mutans และพบว่าแบคทีเรียชนิดนี้สามารถยับยั้งโดยสารสกัดจากเปลือกมังคุด คณะผู้ประดิษฐ์จึงตัดสินใจทำผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของเยลลี่ไม่มีน้ำตาลที่บรรจุสารสกัดจากเปลือกมังคุด ซึ่งเหมาะสำหรับทุกวัย
โดย  นางสาวพรชิตา บุญมาวงศ์ และคณะ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก

รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 2 ผลงาน ดังนี้
1. ผลงานผลิตภัณฑ์นวัตกรรมมูลค่าสูงจากส่วนเหลือทิ้งกระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นบริสุทธิ์เพื่อผู้บริโภคยุคใหม่ (Innovation product from the by-products cold-pressed virgin coconut oil (CVCO) production process for the new normal consumers)
          
เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจาการใช้ส่วนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นบริสุทธิ์มาเป็นวัตถุดิบและส่วนผสม โดยใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อาหารเพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพทางการค้าและตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเน้นเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณประโยชน์และมีคุณสมบัติเชิงสุขภาพ อีกทั้งเป็นการลดส่วนเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ (zero waste)โดย  ดร.ประมวล ทรายทอง และคณะ จากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พร้อมได้รับรางวัลพิเศษ (Special Award) ในการยกเว้นค่าธรรมเนียมการลงเบียนผลงานสำหรับการนำเสนอในเวที “INEX 2022 International Invention Fair” ณ สาธารณรัฐอินเดีย 

2.ผลงาน การพัฒนาอุปกรณ์รองรับกล้องขนาดเล็ก (The Development of Small Camera Support Equipment)              
          
เทคนิคดอลลี่ คือ การเคลื่อนกล้องคล้ายกับการเดินเข้าไปหาหรือถอยออกมาจากวัตถุ และแทนสายตาของผู้แสดงที่กำลังเดินเข้าไปด้วยตัวเอง กล้องจะเคลื่อนไปทั้งตัว ดังนั้นต้องวางกล้องไว้บนขาตั้งที่มีล้อหรือรางเลื่อน เพื่อให้สามารถถ่ายภาพออกมาได้อย่างนุ่มนวล และรองรับขนาดที่ใหญ่ของน้ำหนักกล้อง รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ในการติดตั้ง รวมทั้งการสำรวจพื้นที่ในการติดตั้งเนื่องจากบางสถานที่พื้นที่จำกัดอาจไม่สะดวกต่อการติดตั้งดอลลี่ขนาดใหญ่และใช้เวลานานในการติดตั้ง จึงเกิดแนวคิดที่จะพัฒนาอุปกรณ์รองรับกล้องขนาดเล็ก ให้มีลักษณะมินิดอลลี่สามารถใช้งานได้ทุกพื้น โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์กมล สังข์ทอง และคณะ จากคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

Thursday, June 23, 2022

วช. จับมือ มว. - มช. พร้อมร่วมมือสร้างมาตรฐานเครื่องวัดฝุ่นต้นทุนต่ำของประเทศไทย


วันที่ 23 มิถุนายน 2565  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ จับมือกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงนามความร่วมมือพัฒนาระบบมาตรวิทยาต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรม ตั้งเป้าหมายแรกในการยกระดับมาตรฐานเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กระบบเซ็นเซอร์ของประเทศไทย โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 
พร้อมด้วย นางอัจฉรา เจริญสุข ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) เพื่อพัฒนาระบบมาตรวิทยาร่วมกัน 
โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สัญชัย จตุรสิทธา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ พร้อมทั้ง นายอนุสรณ์ ทนหมื่นไวย รองผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ นางสาวกรรณิกา ดุรงคเดช หัวหน้าภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ รองศาสตราจารย์ ดร. เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าหน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามครั้งนี้ ณ ห้องดอยหลวง โรงแรมดวงตะวันเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยและนวัตกรรม โดยนวัตกรรมเครื่องตรวจวัดฝุ่น Dust Boy เป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือของ วช. 
เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย โดยทั้งสามฝ่ายได้ประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือของงานวิจัยและนวัตกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ผ่านการใช้ระเบียบวิธีทางมาตรวิทยา เพื่อสนับสนุนความเชื่อมั่นในการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมในวงกว้าง ซึ่งทางสถาบันมาตรวิทยาจะสนับสนุนการวิเคราะห์ ทดสอบและสอบเทียบเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ผลงานและนวัตกรรม ที่พัฒนาขึ้นภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้มีมาตรฐาน
 เป็นที่ยอมรับต่อการนำไปใช้ประโยชน์ โดยในระยะแรกจะร่วมกันพัฒนามาตรฐานเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กระบบเซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นเครื่องวัดฝุ่นต้นทุนต่ำในประเทศไทย นำร่องด้วยการสร้างแนวทางการเทียบวัดมาตรฐานของเครื่องตรวจวัดฝุ่น DustBoy 
ที่พัฒนาในนามมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. เพื่อให้ผู้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเครื่องวัดฝุ่นทั่วประเทศในปัจจุบันเกิดความเชื่อมั่นต่อการนำข้อมูลไปใช้ในการเฝ้าระวังและเตือนภัยสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กและปัญหาสุขภาพที่เป็นผลกระทบจากมลพิษอากาศ ที่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมตอบโจทย์ท้าทายของสังคม การสร้างนวัตกรรม และรูปแบบธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.เศรษฐ  สัมภัตตะกุล หัวหน้าหน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า คณะนักวิจัย มช. และทีมพัฒนา DustBoy ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ด้วยดีมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบัน เครื่อง DustBoy มีเครือข่ายจุดติดตั้งที่เข้มแข็งทั่วประเทศ และยังมีการบูรณาการข้อมูลร่วมกับเครือข่ายเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศอื่น ๆ ในประเทศไทย รวมกว่า 1,800 จุด และการลงนามความร่วมมือกันของทั้ง 3 หน่วยงานในวันนี้ จะเป็นก้าวต่อไปของงานวิจัยเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศระบบเซ็นเซอร์ ที่จะสร้างมาตรฐานให้เป็นไปตามหลักสากล และเพิ่มความเชื่อมั่นในการใช้ประโยชน์จากเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ DustBoy ของประเทศไทยต่อไป
ทั้งนี้ ภายในงานมีการจัดแสดงพัฒนาการของเครื่องตรวจวัดฝุ่น DustBoy ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา พร้อมทั้งเครือข่ายข้อมูลฝุ่นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ แสดงผลบนแพลตฟอร์มหลากหลาย รวมไปถึงการต่อยอดงานวิจัยพัฒนาเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า DustBoy EV-Bike ต่อจากนั้น ทางคณะผู้ลงนามได้เดินทางไปเยี่ยมชมส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ณ ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เครื่องตรวจวัดฝุ่น Dust Boy ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ ติดตั้งง่าย ดูแลรักษาสะดวก และมีระบบจัดเก็บข้อมูล Big Data Management ที่มีประสิทธิภาพ ทราบข้อมูลแบบเรียลไทม์ สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในเชิงวิชาการได้ในวงกว้าง ทั้งในระดับชาติ และในระดับนานาชาติ ยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างยั่งยืน

Monday, June 20, 2022

วช. เร่งดัน “คุ้งบางกะเจ้า” ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ​ เกษตร​อินทรีย์​วิถีแห่งความสุข ด้วยเทคโนโลยีจากงานวิจัย ตามนโยบายเศรษฐกิจฐานราก

วันที่ 20 มิถุนายน 2565  สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนบางกะเจ้าเกษตรอินทรีย์เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการวิจัย ณ อำเภอ
พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ นำโดย 
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย คณะทีมผู้บริหาร วช. ผู้ทรงคุณวุฒิ วช.  และสื่อมวลชน โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. โครงการวิจัย เรื่อง “โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตห่วงโซ่คุณค่าเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีเชิงบูรณาการเพื่อยกระดับมาตรฐานและรายได้ของชุมชน” 
โดยมี ผศ.ดร.อนงค์นุช สาสนรักกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย  ซึ่งมี นายธรรมนูญ แจ่มใส นายอำเภอพระประแดงกล่าวรายงานผลผลิตของโครงการฯ พร้อมทั้งแนะนำคณะกรรมการวิสาหกิจชุมชน และหน่วยงานภาคีในพื้นที่
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม สังกัดกระทรวง อว. ได้สนับสนุนงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อ
ดําเนินโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตห่วงโซ่คุณค่าเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีเชิงบูรณาการเพื่อยกระดับมาตรฐานและรายได้ของชุมชน โดยมุ่งหวังที่จะแก้ปัญหาชุมชนที่ยังขาดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต การขาดแคลนปัจจัยการผลิตที่ไม่เพียงพอในชุมชน และยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
โครงการดังกล่าว เป็นการนําองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากงานวิจัยมาเพิ่มผลผลิตของเกษตรกร เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า โดยสร้างเครือข่ายชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชนเชิงธุรกิจที่ตอบโจทย์ความท้าทายของสังคม และเป็นการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้มีมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ
 สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชอินทรีย์​และพืชที่เป็นอัตลักษณ์ประจําถิ่น เช่น พิลังกาสา ละมุดสีดา และมะม่วงน้ำดอกไม้​ เป็นต้น เป็นชุมชนต้นแบบในการขยายผลต่อไปในพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การสร้างความสามารถในการแข่งขัน​ ทั้งนี้ วช. ได้มุ่งเน้นให้เกิดการนําผลงานวิจัยมาต่อยอดขยายผลเพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งจําเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นส่วนของ วช. ที่
ดําเนินการในเรื่องของการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมการนำเทคโนโลยี​เข้ามาหนุน​เสริม ในส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตร​ศาสตร์​ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความรู้และก่อเกิดองค์ความรู้หน่วยงานในพื้นที่ รวมถึงภาคเอกชน ผู้ประกอบการและภาคประชาสังคม
ในชุมชน ที่ร่วมดําเนินการเพื่อให้เกิดผลสําเร็จ อย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะประโยชน์ที่เกิดกับชุมชน 
อันนํามาสู่ความสําเร็จในการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนบางกะเจ้าเกษตรอินทรีย์​ ซึ่งถือเป็นส่วนสําคัญที่จะผลักดันให้เกิดการบรรลุผลสําเร็จอย่างยั่งยื​นต่อไป
ผศ.ดร.อนงค์นุช สาสนรักกิจ หัวหน้าโครงการวิจัย  กล่าวว่า คุ้งบางกะเจ้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
และสุขภาพที่ได้รับความนิยมพื้นที่หนึ่งที่สามารถเชื่อมโยงกิจกรรมและการจำหน่ายผลผลิตพืชอินทรีย์ของกลุ่มได้ และที่สำคัญพบว่าพืชที่ปลูกหลายชนิดใน
คุ้งบางกะเจ้าเป็นพืชที่หายากและเป็นพืชประจำถิ่นที่สามารถเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของผลผลิตนั้นๆ ได้ ในลักษณะพืชอัตลักษณ์ตามฤดูกาล โดยเฉพาะเมื่อปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ หรือการแปรรูปแทนการขายเพื่อทานสด ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ ละมุดสีดา พิลังกาสา ชมพู่น้ำดอกไม้ เป็นต้น ซึ่งโครงการวิจัยดังกล่าวจะมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถเพิ่มจำนวนเกษตรกร และขยายกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตพืชอินทรีย์ในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าทั้ง 6 ตำบล​ ได้แก่ ตำบลบางน้ำผึ้ง ตำบลบางยอ ตำบลบางกอบัว ตำบลบางกระสอบ ตำบลบางกะเจ้า และตำบลทรงคะนอง ซึ่งคุ้งบางกะเจ้าเป็น​พื้นที่​ต้นแบบ โดยการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมมาถ่ายทอดให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเชิงธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างเครือข่าย​และแนวทางการขับเคลื่อน​ผลักดัน​ให้คุ้งบางกะ​เจ้า​เป็นแหล่งท่องเที่ยว​เชิงเกษตร​ตามแบบวิถีเกษตร​อินทรีย์​ ด้วยการรวมตัวกันขึ้นเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง อันเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตร ยกระดับรายได้ชุมชน ลดปัญหาหนี้สินได้ ตลอดจน สร้างอัตลักษณ์ของพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้กลุ่มคุ้งบางกะเจ้า ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 
ทั้งนี้ทางคณะทีมผู้บริหาร วช. ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. พร้อมด้วยสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่ เยี่ยมชมแปลงอินทรีย์ต้นแบบ ปศุสัตว์อินทรีย์ โรงเพาะเห็ดอินทรีย์ การผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน และปุ๋ยจากเศษอาหาร พร้อมทั้งร่วมเปิดป้ายวิสาหกิจชุมชนบางกะเจ้าเกษตรอินทรีย์ กลุ่มคุ้งบางกะเจ้าพีจีเอส และร่วมกันปลูกต้น ไม้ประจำถิ่น ต้นพิลังกาสา ต้นละมุดสีดา ต้นมะม่วงน้ำดอกไม้ และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชน การลงพื้นที่ในครั้งนี้​สะท้อนให้เห็นถึงการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในพื้นที่​ช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ก่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคงรวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ​ที่สำคัญของประเทศอย่างยั่งยืน

“กองทุนสื่อ” จัดงานสัมมนาออนไลน์ (WEBINAR) ระดับโลกครั้งแรกในไทย “TMF MEDIA FORUM 2022 : World Collaboration”

 มุ่งพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อ เชื่อมต่อโอกาสทางธุรกิจอุตสาหกรรมสื่อไทย สู่ “ฮอลลีวูด”และแพลตฟอร์มระดับโลก
ปัจจุบัน “อุตสาหกรรมสื่อ” ทั่วโลกก้าวไปอย่างรวดเร็วและพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างไม่หยุดนิ่ง ดังนั้นอุตสาหกรรมสื่อไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมพร้อมพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อก้าวให้ทันโลกอยู่เสมอ
ทาง “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” หรือ “Thai Media Fund” ได้เล็งเห็นว่า ความสำคัญ ในการส่งเสริมสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์นั้น จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับ สภาพแวดล้อมของสื่อ ระหว่างประเทศ ความรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการคุ้มครอง ความเข้าใจในแหล่งเงินทุนสำหรับสื่อ ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตลอดจนความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลง ไปต่อบทบาทของผู้ผลิตและผู้กำกับรายการบันเทิง การรับรู้ถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในการผลิตความบันเทิงสมัยใหม่และเทคนิคหลังการผลิต รวมทั้งความเข้าใจ ในการเปลี่ยนแปลง และการเผยแพร่ผลงานที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่อของไทยในตลาดโลก
จากวิสัยทัศน์นี้ทางกองทุนฯ จึงเล็งเห็นโอกาสในการยกระดับศักยภาพผู้ผลิตสื่อให้สามารถ สร้างสรรค์ผลงาน ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกในมิติต่างๆทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่มีต้นทุนทาง วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ที่เป็น Soft Power ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก ให้ก้าวขึ้นไปอยู่ในแพลตฟอร์มระดับโลก โดยการสนับสนุนให้ประชาชนมีความเข้าใจ รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสื่อและเทคโนโลยี นวัตกรรมในระดับสากล
ด้วยความสำคัญเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของการจัดงาน “สัมมนาออนไลน์ (WEBINAR) เกี่ยวกับนวัตกรรม เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมสื่อในระดับสากล” หรือ งาน “TMF MEDIA FORUM 2022” ขึ้น ภายใต้แนวคิด WORLD COLLABORATION เพื่อเปิดมุมมองใหม่ในการเชื่อมโยง สื่อสร้างสรรค์ไทยในเวทีโลก โดยมีการเชิญผู้มีประสบการณ์ จากวงการสื่อในทุกองค์ประกอบ จากฝั่งฮอลลีวูดและแพลตฟอร์มระดับโลก มาร่วมบรรยายให้ความรู้ถึงเทคนิค แนวคิด โอกาสทางธุรกิจ และวิธีการในการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อใน ทุกมิติอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเป็นโอกาสในการพาอุตสาหกรรม สื่อไทยก้าวขึ้นสู่เวทีระดับโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ

สำหรับงาน TMF MEDIA FORUM 2022 นี้ ทางกองทุนฯ มีการจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้ และแนวปฏิบัติที่ดีของวงการสื่อระดับโลกโดยเฉพาะวงการบันเทิงฮอลลีวูดและประเทศไทย เพื่อเป็นการ
ส่งเสริมความรู้ ความชำนาญ รวมทั้งศักยภาพของผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีและ นวัตกรรมในวงการบันเทิง ล่าสุดจากแนวปฏิบัติระดับโลก อีกทั้งยังเป็นการให้ความรู้ และส่งเสริมการทำงาน ร่วมกันมากขึ้นระหว่างผู้เชี่ยวชาญ ด้านสื่อระดับสากล และระดับท้องถิ่นเกี่ยวกับความรู้ในอุตสาหกรรมสื่อ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสื่อ ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์

ผู้เข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์ (Webinar) ในงาน TMF MEDIA FORUM 2022 วันที่ 16 และ 17 มิถุนายน 2565 จะได้พบกับเหล่าวิทยากรมืออาชีพของโลกจากฝั่งฮอลลีวูดและแพลตฟอร์มระดับโลก ได้แก่
  ● Thomas Polson: Executive Post and VFX Producer
  ● Michael Peyser: Movie Producer, Media Educator and Innovator of Digital craft and the power of story
  ● Nicolas Simon : Founding & Managing Partner of Indochina Productions, Producer
  ● Erik Weaver : Head of Adaptive and Virtual Production at ETC
  ● หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล : Program Director of Viu Thailand
  ● Yolanda Macias : Cinedigm’s Chief Content Officer of Cinedigm Corp.
  ● พันคำ เวียนตระกูล: Filmmaker, Virtual Art Department Supervisor at Amazon Studios Virtual Production

โดยมีหัวข้อการบรรยายต่างๆ ดังนี้
   1. ความเข้าใจด้านสื่อ ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ที่ได้ถูกสร้างสรรค์ ขึ้น และองค์ประกอบแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทั้งระดับ ประเทศ และในระดับสากล
  2. ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงกระบวนการตั้งแต่การระดมทุนเพื่อสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ไปจนถึงกระบวน การผลิต ทั้งก่อนและหลังการผลิต
  3. บทบาทของผู้ผลิตสื่อในศตวรรษที่ 21 ยุคแห่งดิจิทัล : การเตรียมความพร้อม การผลิต บทบาท หน้าที่และความ รับผิดชอบ
  4. การปรับกระบวนทัศน์ด้วยนวัตกรรมการผลิตภาพยนตร์แบบเสมือนจริง
  5. เทคโนโลยี และเทคนิคพิเศษ สำหรับ Post Production 6. การที่ทำให้สื่อที่ได้พัฒนาและผลิตถูกคัดเลือก และการจัดจำหน่ายสู่สายตาผู้ชมในอุตสาหกรรมสื่อ ทั้งระดับประเทศ และระดับโลก