เมื่อช่วงค่ำวันที่ 18 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
เป็นประธานในพิธีเปิดการแสดงบทเพลง อมตะสยาม ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถนนเทียมร่วมมิตร แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ พร้อมคณะผู้บริหาร อว. และประชาชนร่วมงาน ซึ่งเป็นการแสดงศิลปะดนตรีจากโครงการขยายผลต่อยอดนวัตกรรมเพลงพื้นบ้านเพื่อเผยแพร่ให้เป็นมรดกชาติ ดำเนินการโดย มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข
ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นปีที่ 3 โดยนำเพลงพื้นบ้าน เพลงโบราณของภูมิภาคต่างๆ มาแสดงออกในรูปแบบของวงซิมโฟนี ออร์เคสตรา เพื่อเป็นการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรม กระตุ้นให้เกิดการเสริมสร้างสิ่งใหม่บนรากฐานสิ่งเก่า รักษาเสถียรภาพและอัตลักษณ์ของสังคมไทยให้สืบทอดและคงอยู่ต่อไป
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันจะเห็นว่าศิลปวัฒนธรรม นับวันจะมีความโดดเด่นยิ่งขึ้น มีช่วงหนึ่งที่ศิลปวัฒนธรรมไทยหาย แต่เวลานี้ก็มีความโดดเด่นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมวยไทย อาหารไทย นวดแผนไทย เสื้อผ้าไทย รวมถึงดนตรีไทย
ซึ่ง อว. ทำเรื่องนี้ไม่ใช่ทำให้เก็บเป็นของเก่า แต่เป็นเพราะว่าเก็บของเก่ามาใส่เสน่ห์สมัยใหม่ ความทันสมัยของสมัยใหม่ และก็รวมถึงผู้ที่ชื่นชอบ ศิลปะสุนทรียภาพ ประเทศไทยเป็นประเทศที่โชคดี ที่ศิลปะ สุนทรียะ และอารยธรรม หลายร้อยปี บรรดาคนที่ทำให้ศิลปิน ศิลปะ ดนตรีไทยมีลมหายใจ
คือ อาจารย์สุกรี เจริญสุข อาจารย์ได้มาขอทุน จาก กระทรวง อว. ไปทำวิจัย ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ฟังได้ วิจัยที่ชมได้ วิจัยไม่ได้มีแค่กระดาษและหนังสือ หรือแค่เป็นการตีพิมพ์เท่านั้น แต่วิจัยบางอย่างของ อว. ก็กินได้ การวิจัยอาหาร ส่วนวิจัยที่จะได้รับชมรับฟังในวันนี้ เป็นวิจัยที่ฟังไพเราะเสนาะหู ทำให้คิดถึงความหลัง ทำให้คิดถึงปัจจุบัน ทำให้คิดถึงอนาคต เป็นกระแสเดียวกันได้ ขอแสดงความชื่นชม อาจารย์สุกรี เจริญสุข และคณะนักดนตรี เป็นอย่างมากที่ช่วยรังสรรค์ศิลปวัฒนธรรมเพลงไทยให้คงอยู่ต่อไป
การแสดงดนตรี “อมตะสยาม” เป็นการบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ สังคม วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ผ่านการนำกลับมาเรียบเรียงเสียงประสานขึ้นใหม่ เพื่อทำการบันทึกเสียงเก็บไว้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการรักษาสืบทอดบทเพลงที่สำคัญของชาติไว้ รวมถึงเพื่อใช้ในการศึกษา การค้นคว้า อ้างอิง โดยบรรเลงบทเพลงผ่านวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา
ซึ่งเพลงชุดอมตะสยามได้เรียบเรียงบทเพลงโดย พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ ดร.ธีรนัย จิระสิริกุล ดร.ปิยะวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ
การแสดงดนตรี “อมตะสยาม” ในครั้งนี้ ประกอบด้วยเพลง สรรเสริญถวายไชยมงคล รัชกาลที่ 5 เพลงวอลซ์ปลื้มจิตร เพลงเขมรไทรโยค เพลงสายสมร เพลงลาวดวงเดือน เพลงสุดใจ เพลงคลื่นกระทบฝั่ง เพลงเชิดจีน เพลงลาวแพนออกซุ้ม และเพลงสิบสองภาษา ซึ่งระหว่างการบรรเลงเพลง
ดร.สุชาติ วงษ์ทอง ได้สร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมประกอบบทเพลง การแสดงดนตรี ด้วย