Showing posts with label #อว. #MHESI#วช. #NRCT #วันนักประดิษฐ์ #ThailandInventors’Day2023#อูบุนนาค. Show all posts
Showing posts with label #อว. #MHESI#วช. #NRCT #วันนักประดิษฐ์ #ThailandInventors’Day2023#อูบุนนาค. Show all posts

Friday, February 10, 2023

วช. โชว์ “รั้วไร้สาย” งานวิจัยเพื่อความมั่นคง ป้องกันคนลอบเข้าเมือง ในงานวันนักประดิษฐ์ ปี 2566


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนทุนวิจัยแก่ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ ในการคิดค้นผลงาน “รั้วไร้สาย (ปรับปรุงปี 2564)” โดยมี พลเรือตรี อนุสรณ์ ยังคุ้มญาติ เป็นหัวหน้าโครงการฯ เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย

ผ่านช่องทางธรรมชาติบริเวณรอยต่อชายแดนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังช่วยเตือนภัยพิบัติธรรมชาติได้อีกด้วย ซึ่งผลงานดังกล่าวได้นำมาจัดแสดงในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

พลเรือตรี อนุสรณ์ ยังคุ้มญาติ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ในการดำเนินการคิดค้น “รั้วไร้สาย (ปรับปรุงปี 2564)” 

เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติต่าง ๆ บริเวณชายแดนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน มีหลักการทำงานโดยใช้เซนเซอร์ที่ตรวจจับความเคลื่อนไหวของบุคคลและยานพาหนะ ซึ่งคงทนต่อสภาพแวดล้อมที่มีฝนตกชุกหรืออากาศร้อนได้ดี เน้นการซ่อนพรางไว้ในบริเวณต่าง ๆ  สามารถครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นป่ารกทึบได้เป็นอย่างดี  

โดยกล่องแสดงผลสามารถตรวจจับได้ 8 ทิศทางพร้อมกัน และแต่ละทิศทางสามารถวางแนวตรวจจับได้ไกลทิศทางละ 2 กิโลเมตร  และในแต่ละทิศทางสามารถกำหนดระยะได้ 8 ช่วง ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานได้ดี มีโอกาสในการตรวจจับผู้บุกรุกได้สูง อีกทั้งอุปกรณ์ที่ใช้มีการพรางสายตา ใช้งานง่าย ซ่อมบำรุงไม่ยาก 

และมีความน่าเชื่อถือและแม่นยำสูง หากมีคนหรือยานพาหนะเคลื่อนไหวผ่านแนวเซนเซอร์ที่ติดตั้งไว้ เซนเซอร์จะส่งสัญญาณแจ้งเตือนผ่านสายไปยังกล่องแสดงผล จากนั้นเจ้าหน้าที่ควบคุมอยู่ จะติดตามทิศทางการเคลื่อนไหว ซึ่งหากเป็นบุคคลที่ลักลอบเข้ามาหรือยานพาหนะที่สนับสนุนการขนย้าย เจ้าหน้าที่ก็จะทำการเข้าจับกุมทันที 

ปัจจุบัน ผลงาน “รั้วไร้สาย” ได้นำไปใช้จริงในพื้นที่ชายแดนไทย – กัมพูชา บริเวณจังหวัดจันทบุรี นอกจากนี้ ยังได้นำไปประยุกต์ใช้ในการแจ้งเตือนภัยพิบัติให้กับประชาชนในพื้นที่บ้านผามูบ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และบ้านบ่อหลวง อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

 อีกทั้งยังได้ทดสอบการใช้งานแจ้งเตือนช้างป่าเข้ามาในพื้นที่ชุมชน ในตำบลทับช้าง อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี และนักวิจัยได้นำมาจัดแสดงในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” ระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมาอีกด้วย

Monday, February 6, 2023

วช. ติดดาว 12 ผลงานสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ให้เยาวชนสายอุดมศึกษา ที่เข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะ ในงาน “วันนักประดิษฐ์ 2566”


วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีมอบรางวัลติดดาวผลงานเด่นสายอุดมศึกษา ในกิจกรรม “การเพิ่มศักยภาพและมาตรฐานบุคลากรอุดมศึกษา : บ่มเพาะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” ระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2566 ระหว่างงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้าย 

โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานพร้อมมอบรางวัลฯ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษาสายอุดมศึกษาให้เกิดแรงจูงใจในการคิดค้นผลงานประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อใช้ในประเทศ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

รางวัลติดดาวของทีมอุดมศึกษาที่มีผลงานและการนำเสนอได้อย่างโดดเด่น เป็นต้นแบบการพัฒนาและการต่อยอดเป็นประดิษฐกรรมและนวัตกรรม สำหรับการส่งเสริมให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานตามทิศทางวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 12 ผลงาน ใน 4 กลุ่มเรื่อง ประกอบด้วย 1. ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม ได้แก่ ผลงานแก๊สไบโอมีเทนอัด (cbg) จากมูลจิ้งหรีด สร้างคุณค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

กรณีศึกษาชุมชนสันติสุข จังหวัดสระแก้ว จาก มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี และ ผลงานบาน่าเบรน จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม 2. ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ได้แก่ ผลงานการพยากรณ์โรคในฟันที่มีโรคปริทันต์ผ่านโครงข่ายประสาทเทียมแบบคอนโวลูชัน จากมหาวทิยาลัยเชียงใหม่ 

ผลงานการประยุกต์ใช้แบคทีเรียเซลลูโลส/ออกไซด์นาโนชีทสำหรับอุปกรณ์ติดตามสุขภาพแบบขับเคลื่อนด้วยตนเองจากกลไกไทรโบอิเล็กทริก จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และผลงานประสิทธิผลในการลดละอองลอยปลายเครื่องดูดน้ำลายแรงดูดสูงในช่องปากแบบใหม่ จาก มหาวทิยาลัยเชียงใหม่ 3. ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และอุปกรณ์อัจฉริยะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ผลงานการออกแบบ และพัฒนาระบบเครื่องสกัดสาร
ไมทราไจนีนคุณภาพสูงจากใบกระท่อมแบบพลังงานร่วม โดยใช้เทคนิคสนามไฟฟ้าพัลส์ และอัลตราโซนิค 

ของ มหาวิทยาลัยพายัพ ผลงานเครื่องกรองของเสียพลังน้ำวน ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และผลงานอุปกรณ์ผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็กไฮบริดไทรโบอิเล็กทริก-เทอร์โมอิเล็กทริกแบบยืดหยุ่น
บนพื้นฐานของผ้าคอตตอนและพอลิเมอร์นำไฟฟ้า ของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ 4. ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้แก่ ผลงานชุดเครื่องประดับจากเส้นด้ายเศษเหลือ 

ของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลงานคราฟติฟาย: แพลตฟอร์มเพื่อการสร้างสรรค์ศิลปหัตถกรรมร่วมกัน 
ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานชุดการเรียนรู้ตามแนวทางสะตีมศึกษา เรื่อง วงจรไฟฟ้าหรรษา ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และทักษะการสื่อสาร ของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และผลงานโครงการออกแบบและพัฒนาของที่ระลึกด้วยแรงบันดาลใจจากมวยพิมายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในอำเภอพิมายจังหวัดนครราชสีมา ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

วช. ชู นวัตกรรมเส้นโปรตีนไข่ขาว พร้อมรับประทาน ไร้แป้ง ไร้ไขมัน ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยรีทอร์ท รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปี 2566 ในงานวันนักประดิษฐ์


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ประกาศรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 รางวัลประกาศเกียรติคุณ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ได้แก่ ผลงานประดิษฐ์คิดค้น เรื่อง เส้นโปรตีนไข่ขาวพร้อมทาน ไร้แป้ง ไร้ไขมัน ที่ผ่านการฆ่าเชื้อ ด้วยรีทอร์ท” รายแรก ภายใต้อนุสิทธิบัตรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร งามอุโฆษ หัวหน้าโครงการวิจัย และคณะทีมนักวิจัยจากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้ประดิษฐ์เข้ารับรางวัลและจัดแสดงผลงานในงาน วันนักประดิษฐ์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนากรุงเทพมหานคร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร งามอุโฆษ หัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวว่า การพัฒนาสิ่งประดิษฐ์จึงเกิดขึ้นภายใต้แนวความคิดนวัตกรรมอาหารแห่งโลกอนาคต เป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไทย
ด้วยนวัตกรรม เส้นโปรตีนไข่ขาว 100% โดยเพิ่มมูลค่าจากไข่ขาวปกติได้สูงถึง 14 เท่า และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในตลาดโลก นอกจากนี้นวัตกรรมเส้นโปรตีนไข่ขาว 100% ยังอุดมไปด้วยโปรตีนคุณภาพ มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน ร่างกายสามารถย่อย 

และดูดซึมได้ง่าย ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งใน กลุ่มผู้ป่วย อาทิ โรคไต โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ และผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการบริโภคแป้ง ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เส้นโปรตีนไข่ขาว ไร้แป้ง บริษัท ทานดี อินโนฟูด จำกัด ได้นำเอานวัตกรรมนี้มาต่อยอดเชิงพาณิชย์ ได้รับความสนใจจากประเทศต่าง ๆ มากมาย เช่น ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง เวียดนาม สิงคโปร์ ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นต้น และมีบริษัทผู้ส่งออกสนใจในการ

 นำนวัตกรรมนี้จำหน่ายในประเทศดังกล่าว โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้ 100 ล้านบาท ภายใน 5 ปี ภายหลังจากจำหน่าย เพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศเพิ่มมากขึ้นเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม “เส้นโปรตีนไข่ขาวพร้อมทาน ไร้แป้ง ไร้ไขมัน ที่ผ่านการฆ่าเชื้อ ด้วยรีทอร์ท” นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์จากนักวิจัยไทย ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน

วช. จัดการเสวนา “Sustainable Development Goals (SDGs): แผนพัฒนาโลกสู่ความยั่งยืนด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ในงานวันนักประดิษฐ์ 2566


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 
ในฐานะหน่วยงานกลางด้านการวิจัยและการประดิษฐ์ ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน  สถาบันการศึกษา และองค์กรด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นนานาชาติ ร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นเพื่อสนับสนุนผลงานสู่การสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับนักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยพร้อมก้าวสู่เวทีในระดับโลก การจัดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” (Thailand Inventors’ Day 2023) ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” ซึ่งกิจกรรมภายในงานมีการเสวนา เรื่อง “Sustainable Development Goals (SDGs) : แผนพัฒนาโลกสู่ความยั่งยืนด้วยวิจัยและนวัตกรรม” โดย 

ศ. ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและประธานคณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม วช.  
นายเชิญพร เต็งอำนวย รองสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00-17.00 น. ณ อีเว้นท์ ฮอลล์ 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา 

ศ. ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและประธานคณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม วช. กล่าวว่า SDGs ย่อมาจาก Sustainable Development Goals–SDGs หรือแปลเป็นไทยก็คือ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” การพัฒนาที่สมดุลกันใน 3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน (Three Pillars of Sustainability) นั่นคือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สำหรับ SDGs หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย โดยองค์การสหประชาชาติแบ่งทั้ง 17 ข้อ ออกเป็น 5 มิติ ได้แก่ มิติสังคม (People) มิติเศรษฐกิจ (Prosperity) มิติสิ่งแวดล้อม (Planet) มิติสันติภาพและสถาบัน (Peace) และมิติหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ทั้ง 17 ข้อ 5 มิติ 

ต่างเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทุกคนในโลกควรเรียนรู้ 
ให้ความสนใจ และร่วมกันพัฒนา โดยครั้งนี้จะมาเจาะลึกกันที่ เป้าหมายที่ 9 : สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม ที่จะนำไปสู่แผนพัฒนาโลกสู่ความยั่งยืนด้วยวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับการเรียนรู้ที่ยั่งยืนรวมถึง BCG Economy Model เป็นต้น

นายเชิญพร เต็งอำนวย รองสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านที่สำคัญที่สุด

โดยการขจัดความยากจนลดความเลื่อมล้ำการสร้างรายได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ สู่การสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน ในเรื่องของการปลูกข้าวและการปลูกกัญชงเพื่อลดและทดแทนเส้นใยของฝ้ายนำไปสู่การขยายอุตสาหกรรมระดับโลกโดยอาศัยองค์ความรู้ต่าง ๆ ในการวิจัยมาพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

Saturday, February 4, 2023

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเปิดงาน ‘วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566’ทรงย้ำ ‘นักประดิษฐ์ สร้างผลงานเพื่อประชาชน สังคม และประเทศชาติ’



สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” (Thailand Inventors’ Day 2023) ครั้งที่ 24 จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

 โดยมี ศ.พิเศษ ดร.เอนก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงารการวิจัยแห่งชาติ ผู้บริหารวช. และผู้ทรงคุณวุฒิ วช. เฝ้ารับเสด็จฯ ณ อีเว้นท์ ฮอลล์ 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2566 จำนวน 165 รางวัล เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม รวมท้ังเพื่อเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณแก่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ที่ได้ค้นคว้าวิจัย และคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และทรงมีพระดำรัสเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” ความสำคัญว่า

“การวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างให้เศรษฐกิจของชาติมีความเข้มแข้ง พึ่งพาตนเองได้ มีความพร้อมที่จะแข่งขันในเวทีโลก เศรษฐกิจของประเทศดีย่อมจะส่งผลดีในด้านการประกอบการและรายได้ของภาคประชาชน สร้างเสริมให้ฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชนดียิ่งขึ้น งานวันนักประดิษฐ์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทำให้เราเห็นว่าประเทศไทยมีผู้มีความรู้ความสามารถในทางประดิษฐ์คิดค้นเป็นจำนวนมาก หากได้รับการสนับสนุนส่งเสริมก็จะมีกำลังใจให้คิดค้นสิ่งที่เป็นคุณแก่สังคม ชาติ บ้านเมือง การประดิษฐ์คิดค้นควรมีวัตถุประสงค์ในทางสร้างสรรค์ ในทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหา ช่วยพัฒนาสังคม ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน พัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงในทุกด้าน อันจะเกิดผลเป็นความเจริญอย่างยั่งยืน งานวันนักประดิษฐ์ยังเป็นแรงจูงใจ และเป็นแนวทางแก่เยาวชน ตลอดจนผู้นิยมชมชอบการประดิษฐ์ให้เกิดความคิดที่จะผลิตผลงานที่มีประโยชน์ เป็นการใช้สติปัญญาและความรู้ความสามารถในทางที่เหมาะสม” 
จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการ

เฉลิมพระเกียรติ และนิทรรศการผลงานที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ นิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่ได้รับรางวัลจากนานาชาติ นิทรรศการนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สร้างมูลค่า นิทรรศการพื้นที่เรียนรู้กับนวัตกรรมโดรน ขบวนการผู้พิทักษ์ป่าไม้ ขุมทรัพย์ป่าชายเลน นิทรรศการ U2T นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สู่นวัตกรรม นิทรรศการนักประดิษฐ์วิจิตรศิลป์ นิทรรศการเล็ก ๆ สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์จากหน่วยงานเครือข่าย 6 กลุ่มเรื่อง ประกอบด้วย ด้านความมั่นคง ด้านการเกษตรเพิ่มมูลค่า ด้านอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ด้านนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ด้านนวัตกรรมสังคมผู้สูงวัยและผู้พิการ และด้านนวัตกรรมสีเขียว จุดเริ่มต้นมหกรรมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติ จาก 24 ประเทศ อาทิ แคนาดา  จีน โครเอเชีย ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น การประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ : โครงการ Bangkok International Intellectual Property, Invention and Technology Exposition (IPITEx) การประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน โครงการ Thailand New Gen Inventors Awards 2023 : I-New Gen Award 2023 เมื่อสมควรแก่เวลาแล้วจึงเสด็จกลับ

นายรัชพล เต๋จ๊ะยา โรงเรียนสตรีวิทยา เจ้าของผลงาน “การผลิตกระจกเกรียบตามอย่างโบราณ เพื่อพัฒนาสู่การบูรณะและต่อยอดงานศิลปกรรมไทย” ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลถึงการประดิษฐ์คิดค้นกระจกเกรียบ เผยว่า “พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งชื่นชมว่าเป็นงานที่ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควบคู่กับภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่าก่อให้เกิดการอนุรักษ์ งานกระจกเกรียบถือเป็นงานศิลปกรรมแห่งยุครัตนโกสินทร์ที่เกือบจะสูญหายไปแล้ว แต่วันนี้ได้มาเห็นกระจกเกรียบที่ใช้ความรู้สมัยใหม่ทำให้ยินดีว่ากระจกเกรียบอย่างโบราณฟื้นคืน อันจะเป็นประโยชน์ต่องานอนุรักษ์ และเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการบูรณะราชภัณฑ์ และโบราณสถานต่างๆ ส่วนตัวผมรู้สึกดีใจและภูมิใจเป็นอย่างมากที่ผลงานของเราจะเกิดประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ”

การผลิตกระจกเกรียบตามอย่างโบราณ เพื่อพัฒนาสู่การบูรณะและต่อยอดงานศิลปกรรมไทย เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่คิดจากแนวคิด “วัฒนธรรมนวัตกรรม”  เป็นการฟื้นฟูองค์ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรมในอดีต ด้วยเทคนิคใหม่ คือนำวัตถุธาตุในท้องถิ่นมาผสมแล้วบดเป็นผงหลอมหลวมกับตะกั่ว จนได้น้ำแก้วร้นอมาดาดเทลงบนแผ่นโลหะเรียบเสมอกัน จากนั้นกดด้วยแท่งโลหะทองเหลืองกำหนดความหนาบาง จนได้แผ่นแก้วตามต้องการ และมีความคล้ายคลึงกับกระจกเกรียบสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการบูรณโบราณสถาน สถาปัตยกรรมไทยที่มีการประดับกระจกเกรียบ และสามารถนำไปพัฒนาหัตถศิลป์พื้นบ้าน งานประดับเครื่องศิราภรณ์ งานปักไทยประดับกระจกเกรียบ หรืองานศิลปหัตถกรรมอื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าในเชิงการค้าได้


ด้านผลงาน “เท้าเทียมไดนามิกส์สำหรับผู้พิการขาขาดที่แข็งแรง” เป็นนวัตกรรมเท้าเทียมที่ผลิตจากวัสดุคาร์บอน ไฟเบอร์ ทนทาน แข็งแรง มีน้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่นเสมือนมีข้อเท้าที่สามารถงอขึ้นลงบิดซ้ายขวาได้เหมือนเท้าคนปกติ และสามารถเก็บและปล่อยพลังงานคืนในจังหวะที่เหมาะสมซึ่งเหมาะกับผู้พิการขาขาดที่ยังคงมีความแข็งแรงอยู่ ให้สามารถกลับมาเดินและวิ่ง ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ประดิษฐ์โดย รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ และคณะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิริธร คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล อีกหนึ่งผลงานที่ได้ทอดพระเนตร 

รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ กล่าวว่า  “พระองค์ท่านทรงจำได้ว่าเคยทอดพระเนตรผลงานเท้าเทียมนี้มาก่อน ทรงมีรับสั่งถามว่านี่คือผลงานที่เคยแสดงในงานจุฬาวิชาการ ที่คณะวิศวะฯ ใช่ไหม (ประมาณปี พ.ศ. 2560) พระองค์ท่านทรงเล่าว่า เมื่อครั้งที่หกล้ม คุณหมอสั่งไม่ให้เดินมาก ตอนนั้นรู้สึกกลัวเดินไม่ได้มาก คิดว่าผู้พิการก็คงรู้สึกเหมือนกัน การคิดสิ่งประดิษฐ์นี้ก็จะเป็นประโยชน์สามารถสร้างความสุขให้เขาได้ นอกจากนี้ยังรับสั่งถามว่า ผลงานนี้จะออกสู่สาธารณชนหรือยัง จึงกราบบังคมทูบตอบว่าได้เปิดเป็นบริษัทผลิตเพื่อจำหน่ายแล้ว”

งาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” โดยจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 24 เพื่อน้อมรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ การทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร์ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” โดยปีนี้มีผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นจากนักประดิษฐ์ไทยและนานาชาติ ร่วมนำเสนอผลงานกว่า 1,000 ผลงาน ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อีเว้นท์ ฮอลล์ 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

Thursday, February 2, 2023

วช. หนุน มก. คิดค้นแผ่นปูพื้นไฮบริดกันลื่นจากยางพาราและเส้นใยปาล์ม รองรับสังคมผู้สูงวัย


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนทุนแก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ธาริณี นามพิชญ์ แห่งภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการคิดค้นนวัตกรรม “แผ่นปูพื้นไฮบริดคอมโพสิตธรรมชาติจากยางพาราและเส้นใยปาล์มเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ” โดยผลงานได้จัดแสดงในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” ระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

รองศาสตราจารย์ ดร.ธาริณี นามพิชญ์ เจ้าของผลงาน กล่าวว่า แผ่นปูพื้นไฮบริดคอมโพสิตธรรมชาติจากยางพาราและเส้นใยปาล์มเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยที่กำลังเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันและป้องกันหรือลดการเกิดอุบัติเหตุของผู้สูงอายุจากการลื่นล้ม 

โดยนวัตกรรมนี้ได้มีการศึกษาพัฒนาแผ่นปูพื้นที่มีส่วนผสมของยางและสารเสริมแรงชนิดต่าง ๆ ซึ่งจะสามารถช่วยลดอาการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุของผู้สูงอายุได้ โดยการใช้ยางพาราและเส้นใยปาล์มที่เหลือใช้จากภาคการเกษตรมาใช้ ทำให้ช่วยลดขยะจากภาคการเกษตรและยังช่วยเพิ่มมูลค่าพืชเศรษฐกิจอีกด้วย ซึ่งมีการทดสอบคุณสมบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คุณสมบัติด้านความทนแรงดึง หรือคุณสมบัติด้านความแข็ง เป็นต้น ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าว

สามารถนำไปขยายผลต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์ อาทิ การนำไปใช้ในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุหรือสถานสงเคราะห์คนชราเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุการลื่นล้มได้ นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนโดยการนำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากชุมชนมาใช้เป็นส่วนประกอบเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อีกหนึ่งทางด้วย
ปัจจุบัน นวัตกรรม “แผ่นปูพื้นไฮบริดคอมโพสิตธรรมชาติจากยางพาราและเส้นใยปาล์มเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ” มีผลสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้นำมาร่วมจัดแสดงในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” ระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โซน E สิ่งประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์ บูธ EE01 กลุ่มสิ่งประดิษฐ์เพื่อสังคมสูงวัยและผู้พิการ Even Hall 101 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร