ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ ศ.เกียรติคุณ นพ. สุรพล อิสรไกรศีล นายกราชบัณฑิตยสภา กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กับ ราชบัณฑิตยสภา โดยการระดมสมองราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก ผู้ทรงคุณวุฒิ และเมธีวิจัยอาวุโส ผนึกกำลังบุคลากรวิจัยชั้นนำของประเทศในแต่ละมิติในการสร้างสรรค์งานวิจัยที่ตอบโจทย์ เชื่อมต่อ และใช้ให้เกิด ประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเพื่อการขับเคลื่อนด้านการวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายทางสังคมของประเทศไทย
จากบทบาทและหน้าที่ของทั้ง วช. และราชบัณฑิตยสภา ที่สามารถส่งเสริมและต่อยอดกันและกันในการร่วมสร้างองค์ความรู้หลักให้กับประเทศให้มีความแข็งแกร่ง นำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถ การแข่งขันของประเทศด้วยการวิจัยและนวัตกรรมในด้านต่างๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ รวมถึง ด้านกฎหมาย การเมือง และศิลปกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ จัดทำฐานข้อมูลและดัชนีวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขับเคลื่อนและประสานการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ
จัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย ส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรม ในขณะที่ราชบัณฑิตสภาถือเป็นสถาบันหลักของเครือข่ายทางปัญญาแห่งชาติ และเป็นองค์กรพัฒนาความรู้ที่สามารถเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ มีพันธกิจสำคัญในการค้นคว้า วิจัย นำเสนอผลงาน ให้คำแนะนำทางวิชาการอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศ
การจับมือร่วมมือกันในครั้งนี้ จะทำให้เกิดเครือข่ายบุคลากรวิจัยและทรัพยากรอันมีคุณค่ายิ่งต่อการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และจะเป็นการบูรณาการศาสตร์แขนงต่างๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้อย่างดียิ่ง
ประเทศไทยในยุคโลกไร้พรมแดนซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ความเจริญ ปัญหาและปัจจัยภายนอก จะส่งผลต่อการเติบโตของประเทศซึ่งเป็นอีกโจทย์ที่ยังต้องการการศึกษาวิจัย การฉายภาพให้เห็นภาพของประเทศไทยในอนาคตเป็นเรื่องที่มีความยากและท้าทาย ซึ่ง วช. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศจึงร่วมกับราชบัณฑิตยสภา
จัดทำโครงการ “ประเทศไทยในอนาคต (Future Thailand)” ขึ้น เพื่อฉายภาพอนาคตที่เป็นจริงได้ (Plausible) ของประเทศไทยในอนาคต ในมิติสำคัญๆ ของประเทศทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ อาทิเช่น คนไทยและโครงสร้างประชากร, เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการบริการ, ชนบทและการเกษตรกรรม, โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ, วัฒนธรรมและภาษาไทย, อัตลักษณ์ความเป็นไทย, การเมือง และ บริบทโลก ปัจจัยคุกคามและความมั่นคงของประเทศ เป็นต้น ครอบคลุมทั้งการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่แล้วและสนับสนุนการวิจัยเพิ่มเติมในระดับประเทศและระดับนานาชาติ รวมถึงการศึกษาจากปัจจัยที่จะมีผลกระทบอันเนื่องมาจาก
บริบทโลกต่าง ๆ โดยมีภาพอนาคตที่วางอยู่บนรูปแบบพื้นฐานความเป็นจริงของข้อมูลปัจจุบันที่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น
การประชุมระดมสมองระหว่าง วช. กับราชบัณฑิตยสภา ในหัวข้อ “ทิศทางการวิจัยกับประเทศไทยในอนาคต : บูรณาการราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก ผู้ทรงคุณวุฒิ และเมธีวิจัยอาวุโส” จัดขึ้นในวันที่ 5 กันยายน 2562 เพื่อเป็นเวทีในการหารือ แลกเปลี่ยน และนำเสนอความคิดเห็นทางวิชาการของเครือข่ายขุมกำลังสมองของประเทศจากราชบัณฑิต ภาคีสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ และเมธีวิจัยอาวุโส ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม
No comments:
Post a Comment