Tuesday, October 8, 2024

ชวนบริจาคโลหิต 10 ล้านซีซี ต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

  



ความเป็นมาของการบริจาคโลหิตในไทย เกิดขึ้นในปี 2495 สภากาชาดไทยได้ดำเนินการจัดตั้ง ‘แผนกบริการโลหิต’ ขึ้นในกองวิทยาศาสตร์ และเริ่มมีการผลิตน้ำยา ACD บรรจุในขวดแก้ว โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต เป็นผู้บริจาคโลหิตหมายเลข 1 ของไทย

.


ในปัจจุบันแม้มีประชาชนบริจาคโลหิตไม่น้อย แต่ปริมาณเลือดในคลังเลือดยังมีความต้องการอยู่ จึงก่อให้เกิด ‘โครงการรวมน้ำใจ บริจาคโลหิต 10,000,000 ซีซี ต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567’ และเชิญชวนประชาชนบริจาคโลหิตได้ที่สภากาชาดไทย

.


การบริจาคโลหิตในแต่ละครั้ง สามารถบริจาคได้ครั้งละ 350-450 ซีซี หรือคิดเป็นร้อยละ 10-12 ของปริมาณโลหิตทั้งหมดในร่างกาย ทั้งนี้ประโยชน์ของการบริจาคโลหิตคือ ช่วยกระตุ้นการทำงานของไขกระดูกในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ช่วยให้ทราบหมู่โลหิตของตนเองในระบบ A B O และ Rh ช่วยให้มีระบบไหลเวียนโลหิตที่ดี และได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ทำให้ผู้บริจาคมีความสุขในการเป็นผู้ให้

.


เลือด 1 ยูนิตจะเข้าสู่กระบวนการปั่นแยก เม็ดเลือดแดงจะอยู่ก้นถุง เกล็ดเลือดอยู่กลางถุง และพลาสมาอยู่ชั้นบนสุดของถุง ซึ่งจะถูกเก็บรักษาด้วยวิธีการต่างกันไป โดยเลือดที่เราบริจาค 1 ครั้ง สามารถช่วยได้ถึง 3 ชีวิต


แต่การบริจาคโลหิตในแต่ละครั้งต้องมีการคัดกรอง โดยผู้บริจาคต้องไม่เข้าข่ายดังต่อไปนี้

- หากถูกเข็มเปื้อนเลือดตำให้เว้นบริจาคเลือด 1 ปี

- หากมีคนในครอบครัวเป็นตับอักเสบให้เว้น 1 ปี

- หากถูกควบคุมตัวหรือจองจำในเรือนจำมากกว่า 72 ชั่วโมง ให้เว้น 1 ปี 

- ผู้ที่เข้าไปในพื้นที่มาลาเรียชุกชุมให้เว้น 1 ปี หากเป็นโรคมาลาเรียให้เว้น 3 ปี

- น้ำหนักลดอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา ให้งดบริจาคจนกว่าจะทราบสาเหตุ 

- ผู้ที่เคยพำนักอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และไอร์แลนด์ สามารถบริจาคโลหิตชนิด Whole Blood โดยโลหิตบริจาคที่ได้ต้องถูกนำไปผลิตส่วนประกอบโลหิตชนิดลดเม็ดเลือดขาวเท่านั้น (leukocyte-depleted) โดยที่

ผลิตภัณฑ์เม็ดเลือดแดง (LDPRC) สามารถนำไปให้ผู้ป่วยได้ แต่หากเคยป่วยหรือมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรค CJD(โรควัวบ้า) ให้งดบริจาคถาวร 

.


ทั้งนี้หากเป็นผู้บริจาคโลหิต นอกจากจะได้เป็นผู้ให้แล้ว เรายังได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ดังต่อไปนี้

- ผู้บริจาคโลหิต 16 ครั้งขึ้นไป สามารถขอใช้สิทธิช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล ค่าห้องพิเศษ และค่าอาหาร ได้ร้อยละ 50 

- ผู้บริจาคโลหิต 24 ครั้งขึ้นไป สามารถขอใช้สิทธิช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล 100% ค่าห้องพิเศษและค่าอาหารได้ร้อยละ 50 

- ผู้บริจาคโลหิต 100 ครั้งขึ้นไป สามารถขอใช้สิทธิ ‘ขอพระราชทานเพลิงศพ’ ได้เป็นกรณีพิเศษ 

- ผู้ที่มาบริจาคโลหิตจะได้รับเข็มกลัดที่ระลึก สำหรับคนที่มาบริจาคโลหิตครบ 50 ครั้ง จะได้รับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณชั้น 3 พร้อมใบประกาศกำกับเหรียญกาชาดสมนาคุณ 

- หากบริจาคเลือดครบ 75 ครั้ง ก็จะได้รับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณชั้น 2 พร้อมใบประกาศกำกับเหรียญกาชาดสมนาคุณ 

- หากบริจาคโลหิตครบ 100 ครั้ง จะได้รับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณชั้น 1 พร้อมใบประกาศกำกับเหรียญกาชาดสมนาคุณ

.

ผู้ต้องการบริจาคโลหิตควรศึกษาข้อมูล ดูแลร่างกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ

.

No comments:

Post a Comment