Showing posts with label #ศน#อูบุนนาค. Show all posts
Showing posts with label #ศน#อูบุนนาค. Show all posts

Sunday, December 3, 2023

ศน. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและผู้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลฯ และพิธีมอบพัดรองและเข็มเชิดชูเกียรติ ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประจำปี พ.ศ. 2566

วันที่ 2 ธันวาคม 2566 เวลา 14.30 น. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ที่ปรึกษาคณะกรรมการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ในพิธีมอบพัดรองและเข็มเชิดชูเกียรติ ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประจำปี พ.ศ. 2566 

โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม เจ้าหน้าที่กรมการศาสนา และสื่อมวลชน เข้าร่วมในพิธี ซึ่งมีผู้เข้ารับมอบพัดรองและเข็มเชิดชูเกียรติฯ ประกอบด้วย พระสงฆ์ 91 รูป ฆราวาส 60 คน และหน่วยงาน 9 แห่ง ณ อาคารหอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 


กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจดำเนินการเสริมสร้างศีลธรรมและปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมทางศาสนา ที่จะนำมาพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้กับประชาชนชาวไทย ได้คัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา เพื่อยกย่องผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจรรโลงและเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างเข้มแข็ง

 จัดการประกวดสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัย ทำนองสรภัญญะ การประกวดบรรยายธรรม และการประกวดสวดโอ้เอ้วิหารราย ในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีคุณภาพ ส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษาร่วมรณรงค์ส่งเสริม และปลูกฝังให้เยาวชนกล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม รวมทั้งร่วมสืบสานวัฒนธรรมชาวพุทธที่ดีงาม 

นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) กล่าวว่า ในวันนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา และพิธีมอบพัดรองและเข็มเชิดชูเกียรติ ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประจำปี พ.ศ. 2566 ณ อาคารหอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 

เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมืองานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมและสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและเครือข่ายสถานศึกษา ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมงานทางพระพุทธศาสนา ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมโดยรวมอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งชี้แจงระเบียบแนวทางปฏิบัติตนที่ผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลและซักซ้อมการเข้ารับพระราชทานรางวัลฯ โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา สถานศึกษาที่ชนะการประกวดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ผู้บริหารกรมการศาสนา สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งในพิธีมอบพัดรองและเข็มเชิดชูเกียรติ ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประจำปี พ.ศ. 2566 ได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามและที่ปรึกษาคณะกรรมการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา เป็นประธานในพิธีมอบและเข็มเชิดชูเกียรติ ซึ่งในปีนี้ มีผู้ที่ได้รับรางวัลเสาเสมาธรรมจักร จำนวน 160 ราย ประกอบด้วย พระสงฆ์ 91 รูป ฆราวาส 60 คน และหน่วยงาน 9 แห่ง

อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) กล่าวต่อไปว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้คัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา เพื่อส่งเสริมยกย่องสรรเสริญคุณความดี และประกาศเกียรติคุณของผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นผู้เสียสละทั้งกำลังกาย กำลังสติปัญญา กำลังทรัพย์และเวลาอันมีค่าเพื่อทำนุบำรุง สนับสนุน ส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาจนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พุทธศาสนิกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

ทั้งนี้ ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา รวมทั้งผู้ชนะการประกวดในระดับประเทศ จะได้รับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักรและโล่รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปพระราชทานรางวัลดังกล่าว ในวันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม 2566 เวลา 17.30 น. ณ วัดปทุมวนาราม เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

Saturday, March 11, 2023

ศน. เผยผลการดำเนินงานโครงการศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิด (ศอม.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ส่งเสริมการศึกษาด้านศาสนา หนุนมัสยิดเป็นพื้นที่สร้างกิจกรรมชุมชน


นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า กรมการศาสนาได้ขับเคลื่อนงานและบทบาทภารกิจในการทำนุบำรุง อุปถัมภ์ คุ้มครองกิจการด้านศาสนา โดยได้ดำเนินการส่งเสริมการศึกษาด้านศาสนาอิสลามแก่เยาวชนมุสลิมทั่วประเทศ ผ่านโครงการศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิด (ศอม.) เพื่อปลูกฝังและเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการฝึกอบรมตั้งแต่เยาว์วัย ใช้มัสยิดเป็นสถานศึกษาอบรม มีบุคลากรทางการศึกษาด้านศาสนาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง และใช้หลักคำสอนทางศาสนาขัดเกลาจิตใจให้เป็นคนดี สอดคล้องกับนโยบายของกรมการศาสนาที่มุ่งนำธรรมะสู่ใจประชาชน ควบคู่กับการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางศาสนา ทั้งนี้ ได้ส่งเสริมให้มัสยิดเป็นศูนย์กลางในการนำหลักธรรมคำสอนไปพัฒนาเยาวชนและชุมชน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และสนับสนุนให้มัสยิดเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมแก่เด็ก เยาวชน และประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างมัสยิด ชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ

อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเรียนการสอนของ ศอม. แต่ละศูนย์นั้น ใช้หลักสูตรวิชาการศาสนาอิสลามภาคบังคับ (ฟัรฎอัยน์) พ.ศ. 2560 ของสมาคมคุรุสัมพันธ์อิสลามแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยที่ผ่านมาแต่ละศูนย์ได้ปรับการเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์ทุกระดับชั้น นำเครื่องมือและอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญกับการศึกษามากขึ้น ถือเป็นการปรับตัวในช่วง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งตลอดระยะเวลาการจัดตั้งโครงการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2541-2565 มีศูนย์ ศอม. ทั้งสิ้น 35 จังหวัด จำนวน 1,027 ศูนย์ และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีศูนย์ที่มีการขอจัดตั้งใหม่ทั้งหมด จำนวน 6 ศูนย์ และมีการขอเลิกศูนย์ จำนวน 5 ศูนย์ ทั้งนี้ มีจำนวนครูผู้สอนทั้งหมด 2,177 คน ในขณะที่มีจำนวนนักเรียน 71,729 คน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกรมการศาสนา ทั้งสิ้น 844 ศูนย์ 

นายชัยพล สุขเอี่ยม กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้ว กรมการศาสนายังส่งเสริมให้ ศอม. แต่ละศูนย์จัดกิจกรรมบูรณาการความร่วมมือให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ อาทิ 1.กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาด้านการเรียนการสอน โดยนำเยาวชนร่วมแสดงความสามารถด้านวิชาการในงานประจำปีมัสยิด การลงพื้นที่เพื่อสอนศาสนาตามบ้านเรือนในช่วง COVID-19 2.กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้แก่ กิจกรรมตามรอยศาสตร์พระราชา กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติวันพ่อและวันแม่แห่งชาติ 3.กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันอิฎิ้ลฟิตรี่ วันเมาลิดนบี กิจกรรมต้อนรับเดือนรอมฎอน กิจกรรมเรียนรู้วัฒนธรรมอิสลาม เป็นต้น 4.กิจกรรมจิตอาสา เช่น กิจกรรมรวมน้ำใจงานจิตอาสา สนับสนุนงานศาสนพิธีในชุมชนและต่างชุมชน การพัฒนากุโบร์ (สุสาน) มัสยิด การปลูกต้นไม้บำรุงพื้นที่สาธารณะภายในชุมชน และ 5.กิจกรรมด้านการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา ด้วยโครงการเยาวชนศาสนิกสัมพันธ์ รวมถึงกิจกรรมทบทวน เสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้การปฏิบัติธรรม เป็นต้น

กรมการศาสนาได้เห็นถึงความสำคัญของเยาวชนซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ และเห็นว่าการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนในสังคมนั้น จำเป็นต้องใช้หลักคำสอนทางศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ดังนั้นการจัดโครงการศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิด จึงถือเป็นการสนับสนุนให้องค์กรทางศาสนามีบทบาทสำคัญในการน้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการส่งเสริมให้ผู้เรียนยึดมั่นในศาสนา ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม สร้างโอกาสการบูรณาการร่วมกับองค์กรเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศ สร้างความเข้มแข็งในชุมชน และต่อยอดในการพัฒนาเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไป อธิบดีกรมการศาสนา กล่าว

Thursday, February 16, 2023

กรมการศาสนา (ศน.) บูรณะฟื้นฟูศาสนสถานประสบภัย


นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 การดำเนินงานตามนโยบาย “9 ดี 12 เดือน 12 เด่น นำธรรมะสู่ใจประชาชน” ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนให้ศาสนสถานทุกศาสนาเป็นศูนย์กลางของประชาชน ส่งเสริมสนับสนุนให้ศาสนิกชนเข้าไปประกอบศาสนกิจตามศาสนาที่ตนนับถือ ซึ่งศาสนสถานนั้นควรมีสภาพที่มั่นคง ปลอดภัย สะอาดและสวยงาม เหมาะสมสำหรับการเข้าไปประกอบกิจกรรมทางศาสนา

 แต่เมื่อมีการใช้ศาสนสถานเป็นเวลานานย่อมเกิดความเสียหาย ทรุดโทรม และเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา อีกทั้ง ความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือเหตุอื่นที่ส่งผลให้ไม่สามารถใช้ศาสนสถานประกอบศาสนกิจได้ตามปกติ จึงได้ดำเนิน “โครงการเงินอุดหนุนการบูรณะศาสนสถาน” เพื่อสมทบในการบูรณะซ่อมแซมศาสนสถานที่มีอยู่แล้ว ให้สามารถใช้ในการประกอบศาสนกิจได้ตามความเหมาะสม

 คุ้มค่า โดยไม่จำเป็นต้องสร้างศาสนสถานขึ้นใหม่ สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการจัดสรรเงินอุดหนุนบูรณะศาสนสถานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 58 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 678 แห่ง ประกอบด้วย ศาสนสถานของศาสนาอิสลาม 560 แห่ง ศาสนาคริสต์ 115 แห่ง ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู 1 แห่ง และศาสนาซิกข์ 2 แห่ง 

อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการประชุมพิจารณาแนวทางการดำเนินงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยจะสำรวจและรวบรวมแบบคำขอรับเงินอุดหนุนบูรณะศาสนสถานทั่วประเทศ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ อีกทั้ง ในช่วงต้นปีงบประมาณที่ผ่านมา หลายพื้นที่ของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากมรสุม และสถานการณ์พายุโนรู (NORU) ทำให้มีฝนตกหนักพร้อมกับมีลมแรง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำท่วมขัง

 เป็นเหตุให้บ้านเรือนประชาชน และศาสนสถานของศาสนาอื่น ๆ ที่ทางราชการรับรองได้รับความเสียหาย กรมการศาสนาได้ขอความร่วมมือสำนักงานวัฒนธรรมทุกจังหวัด สำรวจข้อมูลศาสนสถานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในครั้งนั้น พบว่า มีศาสนสถานที่ประสบภัยขอรับการสนับสนุน 14 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดกระบี่ ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ เชียงใหม่ นครนายก บุรีรัมย์

 พระนครศรีอยุธยา ร้อยเอ็ด ระยอง เลย ศรีสะเกษ สตูล สมุทรปราการ และอุบลราชธานี สำหรับศาสนสถานได้รับผลกระทบทั้งสิ้น จำนวน 34 แห่ง ประกอบด้วยศาสนสถานของศาสนาอิสลาม 23 แห่ง และศาสนาคริสต์ 11 แห่ง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนศาสนสถาน กรณีประสบภัยแล้ว และจะได้สนับสนุนงบประมาณในการบูรณะซ่อมแซมศาสนสถานให้กลับมามีสภาพพร้อมใช้สำหรับการประกอบศาสนกิจทางศาสนาต่อไป

Thursday, December 1, 2022

พระคาร์ดินัลฟรังซิส เซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ประมุขอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เข้าพบพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงกลาโหม


 เพื่อแสดงความขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกภารกิจต่าง ๆ ของพระศาสนจักรในไทย 

โดยมีนายดิสทัต โหตระกิตย์
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 

และนายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา เข้าร่วมด้วย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล

Monday, November 28, 2022

กรมการศาสนาได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณองค์กรที่สนับสนุนการขับเคลื่อนงานวัดส่งเสริมสุขภาพและพระคิลานุปัฏฐาก


วันศุกร์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๐.๐๐ น. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

 เป็นประธานพิธีมอบรางวัล และมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานธรรมนูญพระสงฆ์เเบบบูรณาการ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พระเเข็งเเรง 
วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข

 ทั้งนี้ นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา เข้ารับประกาศเกียรติคุณด้านองค์กรที่สนับสนุนการขับเคลื่อนงานวัดส่งเสริมสุขภาพและพระคิลานุปัฏฐาก 

ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

Tuesday, November 15, 2022

พลิกโฉมกรมการศาสนาชูนโยบาย “9 ดี 12 เดือน 12 เด่น นำธรรมะสู่ใจประชาชน”มุ่งเด็กและเยาวชนเป็นคนดี คนเก่ง คนมีความสุข เร่งยกระดับบทบาทด้านศาสนาสู่เวทีโลก


นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) กล่าวว่า กรมการศาสนาได้ขับเคลื่อนงานตามนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนฉากทัศน์วัฒนธรรม โดยขับเคลื่อนวัฒนธรรม 9 ดี สู่ก้าวที่มั่นคงและยั่งยืน โดยกรมการศาสนา

ได้ให้ความสำคัญในการดำเนินงานสนองงานพระราชพิธี พระราชกุศล รัฐพิธี และศาสนพิธี ปลูกฝังและเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมและสานสัมพันธ์กิจกรรมทางศาสนา และอุปถัมภ์ ทำนุบำรุง คุ้มครองกิจการ ด้านศาสนา พร้อมนำข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้ขับเคลื่อนกิจกรรมเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  และด้านศาสนาครอบคลุมทุกศาสนา พร้อมปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้แก่เยาวชนตั้งแต่ระดับปฐมวัย 

อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวต่ออีกว่า การดำเนินงานด้านศาสนาในปีงบประมาณ 2566 ได้กำหนดนโยบาย “9 ดี 12 เดือน 12 เด่น นำธรรมะสู่ใจประชาชน” ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนให้วัดและศาสนสถานทุกศาสนา เป็นศูนย์กลางของประชาชน และการใช้สื่อเทคโนโลยีและกิจกรรมทางศาสนาสู่เยาวชนและประชาชน ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมทุกช่วงวัย พัฒนาวัดและศาสนสถานเป็นแหล่งเรียนรู้ และ

ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนบนฐานวัฒนธรรมแบบบูรณาการ ประกอบด้วย 9 ดี ได้แก่ 1.การแบ่งปันความรู้สู่สาธารณะ ค่ายธรรมะ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการปฏิบัติตามหลักศาสนาด้วยความสงบสุข 2.ธรรมะบันเทิง เป็นการใช้สร้างสรรค์สื่อที่เหมาะสมกับเยาวชน เช่น เกมคุณธรรม เพลงธรรมะ ธรรมะอารมณ์ดี และการจัดธรรมะสัญจรสู่สถานศึกษา 3.ค่ายธรรมะ ส่งเสริมเยาวชนทุกศาสนาได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ เพื่อการอยู่ร่วมกัน
อย่างสันติสุข 4.การจัดวิปัสสนาเพื่อคนทั้งมวล เพื่อกล่อมเกลาจิตใจให้ปฏิบัติตามหลักธรรม ด้วยการละเว้นความชั่ว ทำความดี โดยเฉพาะการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ด้วยเจริญจิตภาวนา 5.พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของผู้นำทางศาสนา โดยส่งเสริมการศึกษา
พระปริยัติธรรมแด่พระสงฆ์ การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและประจำมัสยิด เป็นต้น 6.การตักบาตรพระสงฆ์ด้วยอาหารสุขภาพ โดยจัดทำหนังสือรายการอาหารสุขภาพ การจัดสาธิตการทำอาหารสำหรับตักบาตรให้กับผู้ประกอบการ 7. การยกย่องคนดีศรีจังหวัด โดยสนับสนุนให้แต่ละจังหวัดได้ประกาศยกย่องบุคคลที่ทำความดี เป็นแบบอย่างให้กับสังคม 8.การจัดงานศาสนิกสัมพันธ์และศาสนสัมพันธ์กับนานาประเทศ เพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคีของศาสนิกชนทุกศาสนาเพื่อสร้างสันติสุขในสังคม และ 9.ตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา โดยจัดเส้นทางบุญสู่วัดและศาสนสถาน การจัดงานเสน่ห์วันวาน เทศกาลงานวัด การจาริกแสวงบุญตามรอยเกจิ เป็นต้น

ส่วนกิจกรรม 12 เดือน 12 เด่น โดยขับเคลื่อนกิจกรรมหลักที่สำคัญ อาทิ เทศกาลกฐิน แผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ สวดมนต์ข้ามปี การยกย่ององค์กรคุณธรรมต้นแบบโดดเด่น การส่งเสริมพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนไปประกอบศาสนกิจ ณ สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ประเทศอินเดีย-เนปาล งานเทศกาลมาฆบูชา งานพิธีพระราชทานเสาเสมาธรรมจักร แก่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา พิธีศาสนามหามงคล 5 ศาสนา เทศกาลวันวิสาขบูชา การส่งเสริมการผลิตสื่อคุณธรรมจริยธรรม เทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา และการจัดกิจกรรมเข้าวัดธรรมะสวนะ พาครอบครัวเข้าวัด เป็นต้น

การพลิกโฉมการทำงานด้วยการ “นำธรรมะสู่ใจประชาชน” เป็นความท้าทายและถือเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ที่ส่งผลดีต่อดีต่อศาสนิกชนและประเทศชาติ โดยมีเป้าหมายสูงสุด เพื่อให้คนเป็นคนดี คนเก่ง และคนมีความสุข” อธิบดีกรมการศาสนากล่าว
////

Friday, October 7, 2022

กรมการศาสนา เชิญชวนพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา แจ้งความประสงค์ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐิน ๗ พระอารามที่ยังไม่มีผู้ขอรับพระราชทาน

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ตามราชประเพณี 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐินให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การ สมาคม มูลนิธิ บริษัทห้างร้าน และประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธาที่มาขอรับพระราชทานผ้าพระกฐิน นำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษา ณ พระอารามหลวงทั่วราชอาณาจักรในกฐินกาล จำนวน ๒๙๒ พระอาราม และวัดไทยในต่างประเทศ จำนวน ๓๑ วัด ซึ่งในปี ๒๕๖๕ ได้กำหนดกฐินกาล เริ่มตั้งแต่วันอังคารที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ – วันอังคาร
ที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ และกำหนดเริ่มพระกฐินหลวงตั้งแต่วันอังคารที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๕ ซึ่งขณะนี้
มีพระอารามหลวงจำนวน ๗ พระอาราม ที่ยังไม่มีผู้แจ้งความประสงค์ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐิน 
ได้แก่ ๑.วัดสุวรรณคีรีวิหาร จังหวัดระนอง ๒.วัดราชบุรณะ จังหวัดชุมพร ๓.วัดพายัพ จังหวัดนครราชสีมา 
๔.วัดเซกาเจติยาราม จังหวัดบึงกาฬ ๕.วัดจองคำ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ๖.วัดศรีธรรมาราม (ธ) จังหวัดยโสธร 
๗.วัดราษฎร์ศรัทธาธรรม จังหวัดสุโขทัย ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาแจ้งความประสงค์ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐิน เพื่อนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษา 
ณ พระอารามหลวงดังกล่าวได้ที่กรมการศาสนา ก่อนจะถึงช่วงเริ่มถวายผ้าพระกฐิน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า กฐินพระราชทาน เป็นผ้าพระกฐินที่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้แก่ผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน เพื่อน้อมนำไปถวาย
ยังพระอารามหลวงต่าง ๆ นอกเหนือจากพระอารามหลวงสำคัญที่ทรงกำหนดไว้ จำนวน ๑๘ พระอาราม
เนื่องจากปัจจุบันพระอารามหลวงมีจำนวนมาก จึงเปิดโอกาสให้กระทรวง กรม และหน่วยงานต่างๆ 
ตลอดจนคณะบุคคลหรือบุคคลทั่วไปที่สมควรขอรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวาย และผู้ที่ได้รับพระราชทาน
จะเพิ่มไทยธรรม เพื่อถวายพระราชกุศลตามกำลังศรัทธาของตนก็ได้ โดยกรมการศาสนาขอพระราชทาน
พระบรมราชานุญาตจัดผ้าพระกฐินพระราชทานและบริวารพระกฐิน ให้แก่กระทรวง กรม หน่วยงาน
ตลอดจนคณะบุคคลหรือบุคคลทั่วไปที่ขอรับพระราชทาน ประกอบด้วย ๑.ผ้าไตร ๒.ผ้าห่มพระประธาน 
๓.เทียนพระปาติโมกข์ ๔.บาตรพร้อมถลกบาตร ๕.ปิ่นโตสแตนเลส ๖.ช้อนส้อมคาว-หวาน พร้อมซองบรรจุ 
๗.กระติกน้ำไฟฟ้า ๘.ชุดแก้วน้ำกระบะมุก ๙.โคมไฟตั้งโต๊ะ ๑๐.พรม ๑๑.หมอนหนุนพร้อมปลอกสีเหลืองอ่อน 
๑๒.ผ้าแพรสีเหลืองอ่อน ๑๓.ชุดอุปกรณ์เครื่องมืองานช่างทั่วไป ดังนั้น หากกระทรวง กรม คณะบุคคลหรือ
บุคคลทั่วไป มีความประสงค์จะขอรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวายณ พระอารามหลวงในปี ๒๕๖๕ 
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมการศาสนา www.dra.go.th หรือ โทร ๐ ๒๒๐๙ ๓๗๒๑
ได้ในวันและเวลาราชการ


Wednesday, September 28, 2022

ศน. จัดพิธีมอบพัดรองที่ระลึกและเข็มเชิดชูเกียรติ แก่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประจำปี 2565

    วันพุธที่ 28 กันยายน 2565 สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ที่ปรึกษาคณะกรรมการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา 

เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
นายเกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ์ อธิบดีกรมการศาสนา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีมอบพัดรองที่ระลึกและเข็มเชิดชูเกียรติแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ณ อาคารหอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

    นายเกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ์ กล่าวว่า กรมการศาสนา ได้จัดโครงการยกย่องผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ด้วยการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ เป็นต้นมา โดยในปีพุทธศักราช ๒๕65 นี้ มีผู้ได้รับการคัดเลือก จำนวน ๑๖๐ ราย 

ซึ่งจะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๖ ณ ศาลาพระราชศรัทธา วัดปทุมวนาราม เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และเพื่อเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่าง
ผู้ได้รับการคัดเลือก กรมการศาสนาจึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาขึ้น เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาในแต่ละภูมิภาค และจัดพิธีมอบพัดรอง


ที่ระลึกและเข็มเชิดชูเกียรติแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ โดยได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ที่ปรึกษาคณะกรรมการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา มอบสิ่งของแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา 

ได้แก่ พัดรอง (บรรพชิต) จำนวน 101 รูป และเข็มเชิดชูเกียรติ (คฤหัสถ์) จำนวน 59 คน โดยกรมการศาสนา
หวังว่าผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาที่ได้รับการคัดเลือกในครั้งนี้ จะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมสู่สังคม สร้างพลังในการสืบสานให้พระพุทธศาสนายั่งยืนสืบไป

    อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวต่อว่า ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา เป็นผู้ที่มีคุณูปการในด้านการทำนุบำรุงส่งเสริมงานด้านพระพุทธศาสนา เป็นแบบอย่างของการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีมีจิตสาธารณะ

 
ได้ประสานเชื่อมโยงเครือข่ายทางศาสนา ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา สังคมและประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้บุคคล ครอบครัว ชุมชนและหน่วยงานมีคุณธรรม และร่วมกันส่งเสริมให้ประชาชนได้น้อมนำหลักธรรมมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน สมควรได้รับการยกย่องคุณความดีด้วยการประกาศเกียรติคุณให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน จึงได้ประกาศเกียรติคุณให้ปรากฏ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำความดี ตลอดถึงเป็นแบบอย่างที่ดีของอนุชนต่อไป.


             ..........................