วันที่ 26 มกราคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการวิจัยเรื่อง “การวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีก่อนและหลังเก็บเกี่ยวสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ในเขตภาคเหนือ” ดำเนินโครงการโดย
รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท และคณะนักวิจัย แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตสารแอนโทไซยานินในสตรอว์เบอร์รี ณ สถานีเกษตรโครงการหลวงทุ่งหลวง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 329 เป็นสายพันธุ์พ่อและสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 เป็นสายพันธุ์แม่ ซึ่งถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2563
ทำให้สตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์นี้มีขนาดใหญ่เทียบเท่าสตรอว์เบอร์รีเกาหลี อีกทั้งมีกลิ่นหอม ทนต่อการขนส่ง และมีปริมาณสารแอนโทไซยานินหรือสารต้านอนุมูลอิสระสูง เฉลี่ย 40.83 มิลลิกรัม/100 กรัม
สูงกว่าพันธุ์การค้าทั่วไป 1-2 เท่า ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพ ดังนั้น จึงเหมาะแก่การนําไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก โดยสายพันธุ์นี้ได้รับพระราชทานนามว่า "สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89" ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา
ปัจจุบัน คณะนักวิจัยได้ทำการทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ในแปลงปลูกของสถานีวิจัยเกษตรโครงการหลวง ทั้ง 4 แห่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ สถานีเกษตรหลวงทุ่งหลวง อำเภอแม่วาง สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง สถานีเกษตรหลวงแม่สาใหม่ อำเภอแม่ริม
และสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง ซึ่งหากผลการทดลองเป็นที่สำเร็จแล้วจะทำการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรสามารถผลิตสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ให้มีมาตรฐานและคาดว่าจะสามารถทำการค้าในตลาดได้ในปี 2567
No comments:
Post a Comment